กรมวิชาการเกษตรถกด่วนผู้ว่าฯชุมพร คุมเข้มทุเรียนส่งออก พร้อมเล็งสั่งระงับล้งที่มีหนอนเจาะเมล็ดส่งไปจีน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร เชิญผู้ว่าชุมพรประชุมด่วน กำหนดมาตรการแก้ปัญหาทุเรียนส่งออกหลังจากที่ได้รับการเตือนจากจีนพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน สั่งตรวจสอบคุณภาพทุเรียนใต้อย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดฤดูกาล พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรและล้งคัดแยกเกรดทุเรียนให้ชัดเจน เพื่อส่งโรงงานแปรรูป หรือเพื่อการส่งออก

       นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากประเด็นข่าวทุเรียนไทยถูกจีนตีกลับเนื่องจากพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Mudaria luteileprosa) กรมวิชาการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด  โดยได้รับหนังสือการแจ้งเตือนจาก GACC ผ่านทางทูตเกษตรประจำกรุงปักกิ่งให้ตรวจสอบย้อนกลับแต่ละชิปเม้นท์ของทุเรียนดังกล่าว ในวันนี้ ( 22 สิงหาคม 66) ได้มอบหมายให้ ดร. ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมประชุมผ่าน zoom กับนายวิสาห์  พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธาน ศพก.ชุมพร ตัวแทนล้ง ประชุมด่วน ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร  เพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหาทุเรียนส่งออกที่ได้รับการแจ้งเตือนจากจีน  และการคัดเลือกทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก และให้ตระหนักถึงผลกระทบของการปนเปื้อนของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน  รวมถึงวิธีการคัดเลือกผลทุเรียนปราศจากหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน

ระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ 

     พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้ นางสาวฉันทนา คงนคร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยนายชัยศักดิ์  รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ตรวจสอบล้งทุเรียนในจังหวัดชุมพรตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยหลังจากที่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วจะเตรียมสั่งระงับล้งที่ถูกแจ้งเตือนจากจีนกรณีที่ถูกแจ้งเตือนพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน  เนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกทุเรียนไทยในภาพรวมของประเทศ และข้อตกลงตามมาตรการสุขอนามัยพืชของทั้งสองประเทศ ในประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 กล่าวคือ ต้องรักษาสถานภาพการรับรองมาตรฐานที่ได้ขอขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร

นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า  ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรตรวจสอบคุณภาพทุเรียนใต้อย่างต่อเนื่องจนหมดฤดูกาล และมีการบูรณาการร่วมกับทุกฝ่ายที่ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ทุเรียนไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค   คุมเข้มทุเรียนภาคใต้ส่งออกไปจีนต้องได้คุณภาพ ปลอดการปนเปื้อนศัตรูพืชอย่างเด็ดขาดและต้องตรวจสอบย้อนกลับได้  ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 จีนได้ขึ้นทะเบียนให้กับสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ไทย 13 ชนิด โดยเป็นทุเรียนกว่า 72,488 แปลง พร้อมกับเตรียมเสนอของบประมาณจากรัฐบาลใหม่สนับสนุนการตรวจสอบควบคุมคุณภาพทุเรียนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามการเพาะปลูกทุเรียนที่มีเพิ่มมากขึ้น  มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออกให้ถึงแสนล้านบาทต่อปีอย่างต่อเนื่องได้อย่างแน่นอน

       อย่างไรก์ตาม กรมวิชาการเกษตรได้วางแนวทางผลักดันทุเรียนไทยให้มีมูลค่าส่งออกแสนล้านต่อปีไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงระบบ e-Phyto ในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate: PC) กับระบบของสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) การพัฒนา application ตรวจสอบปริมาณผลผลิตเชื่อมโยงกับระบบ e-Phyto เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP ตลอดจนการพัฒนาระบบ e-service สำหรับการรับรอง GAP ของแปลง การออกใบรับรอง DOA ของโรงคัดบรรจุ และการออกใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate: HC) และอนาคตยังมองไปถึงการจัดตั้งกองทุนทุเรียนคุณภาพไทย (Thai Quality Durian Fund) เพื่อนำรายได้จากการส่งออกส่วนหนึ่งมาต่อยอดพัฒนายกระดับการผลิตทุเรียนทั้งระบบให้มีคุณภาพมาตรฐานในระยะยาว สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน

“ทุเรียนไทยยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดจีนอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีทุเรียนคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านก็ตามและอนาคตยังไปต่อได้อีกไกล เพราะคนจีนกว่าครึ่งประเทศยังไม่ได้รับประทานทุเรียนไทย สิ่งสำคัญคือการรักษาคุณภาพให้มีความสม่ำเสมอ ตั้งแต่สวน โรงคัดบรรจุ ไปจนถึงการส่งออก และควรมีการวาง position ของทุเรียนเกรดพรี่เมียมของไทยให้มีราคาที่สูงขึ้นจากทุเรียนทั่วไปเพื่อเจาะตลาดระดับบนในจีนที่มีกำลังซื้อสูงด้วย  จึงขอให้มั่นใจว่ากรมวิชาการเกษตรพร้อมเป็นสายลมใต้ปีก ผลักดันการบริการ และอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ เพื่อบรรลุเป้าหมายมูลค่าส่งออกแสนล้านบาทต่อปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน ภายใต้ภาวการณ์แข่งขัน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว