เดินหน้าแล้ว!! ปั้นเกษตรกรสู่หมอพืชชุมชน เพิ่มเครือข่ายป้องกันกำจัดศัตรูพืช

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าแล้ว! อบรมเกษตรกรปั้นสู่หมอพืชชุมชนเพิ่มเครือข่ายป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพ  พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่คอยให้บริการตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืช ให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องแก่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง หวังลดปัญหาการเกษตร ส่งมอบพืชผลคุณภาพสู่ตลาด

นายเข้มแข็ง  ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการดำเนินงานสนับสนุนเกษตรกรเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ได้จัดให้มีคลินิกพืช (Plant Clinic) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่คอยให้บริการตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืช พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องแก่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องนั้น ที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรมีความพึงพอใจในการเข้ารับบริการจากคลินิกพืชเป็นอย่างดี เป็นบริการของรัฐที่มอบให้แก่เกษตรกรโดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และยังช่วยป้องกันผลกระทบจากศัตรูพืชที่อาจทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนด้วย

อย่างไรก็ตามการทำเกษตรมักพบปัญหาอาการผิดปกติของพืชในลักษณะต่างๆ ทั้งที่เกิดจากศัตรูพืช ความไม่สมดุลของธาตุอาหาร และสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตเสียหาย พืชอ่อนแอ ผลผลิตไม่ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ผลิตได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งปัญหาสำคัญยังพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าอาการผิดปกติของพืชที่พบเกิดจากสาเหตุอะไรและจะจัดการอย่างไร ส่งผลต่อการเลือกวิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม จึงหวังพึ่งสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นสำคัญ ทำให้มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินความจำเป็น ส่งผลกระทบตามมาอย่างมากมาย

ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงเดินหน้าสร้างหมอพืชชุมชนเพื่อเป็นผู้มีความรู้และความสามารถด้านการวินิจฉัยและจัดการศัตรูพืชเบื้องต้น โดยเฉพาะศัตรูพืชสำคัญของพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ และมีบทบาทสำคัญในการเป็นเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินงานคลินิกพืชและที่เกี่ยวข้องระหว่างเจ้าหน้าที่หมอพืชหรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้การบริการด้านอารักขาพืชของกรมส่งเสริมการเกษตรครอบคลุมเชื่อมโยงในทุกพื้นที่ โดยคัดเลือกตัวแทนเกษตรกรรับถ่ายทอดองค์ความรู้จากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร พร้อมกระจายความรู้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชสู่ระดับพื้นที่ย่อย ได้แก่ หมู่บ้าน หรือครัวเรือนได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงการดำเนินงานในระดับชุมชน โดยมีเป้าหมายสร้างหมอพืชชุมชนให้ครบทุกหมู่บ้าน 75,000 หมู่บ้าน ภายในปี 2570 ซึ่งในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรเริ่มขับเคลื่อนโดยการอบรมหลักสูตรหมอพืชชุมชนให้แก่เกษตรกร ใน 38 จังหวัดนำร่อง รวม 990 หมู่บ้าน แล้ว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดอบรมหลักสูตรหมอพืชชุมชนให้แก่เกษตรกรใน 38 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา นครศรีธรรมราช ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์ อุทัยธานี พิษณุโลก และจังหวัดกำแพงเพชร ในปี 2566 นี้ จัดอบรมในหลักสูตรที่ 1 ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมหมอพืชชุมชนผู้เป็นเกษตรกรให้เข้าใจการวินิจฉัยและการจัดการศัตรูพืชเบื้องต้นและสามารถนำไปปรับในกับการทำเกษตรของตนเองได้

คาดว่าจะดำเนินการอบรมเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2566 เกษตรกรจะสามารถวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชเบื้องต้นได้ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักและศัตรูพืชสำคัญในพื้นที่ รวมทั้งสามารถจัดการปัญหาศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสานอย่างถูกต้องเหมาะสมได้ด้วยตนเอง และให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่เกษตรกรในพื้นที่ได้เช่นเดียวกันด้วย ทำให้เครือข่ายดำเนินงานคลินิกพืชของกรมส่งเสริมการเกษตรเกิดการพัฒนาและเชื่อมโยงให้ครอบคลุมทั่วถึงไปสู่ระดับชุมชนหรือหมู่บ้านผ่านการมีส่วนร่วมของเกษตรกรและเจ้าหน้าที่หมอพืชในพื้นที่

สำหรับในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนจะอบรมต่อเนื่องให้กับเกษตรกรรายเดิมในหลักสูตรที่ 2 ให้เกิดความเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น เป็นการวางแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถขยายไปสู่การให้บริการเกษตรกรในชุมชนภายใต้เครือข่ายคลินิกพืช  อีกทั้งมีแผนขยายการสร้างหมอพืชชุมชนเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 20,000 หมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นการยกระดับให้เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้จริงด้วยตนเองและช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรแก้ไขปัญหาอาการผิดปกติของพืชและศัตรูพืชได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดได้อย่างมีคุณภาพ เกิดเป็นชุมชนแห่งการพึ่งพาตนเองด้านการบริหารจัดการศัตรูพืชอย่างยั่งยืน