กรมการข้าวรุกขับเคลื่อนแผนงานถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวไทยวางเป้าเสร็จภายใน 2570

  •  
  •  
  •  
  •  
กรมการข้าวรุกขับเคลื่อนแผนงานถ่ายโอนภารกิจตรวจสอบและรับรองข้าวคุณภาพข้าวไทย จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เน้นการสัมมนาประชาสัมพันธ์แนวทางการถ่ายโอนฯ วางเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2570
              นายอานนท์   นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว   เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิด “การสัมมนาประชาสัมพันธ์แนวทางการถ่ายโอนภารกิจการตรวจสอบและรับรองข้าวคุณภาพของกรมการข้าว”ว่า จากการที่กรมการข้าว มีภารกิจเกี่ยวกับข้าวของประเทศไทย เช่น การปรับปรุงพัฒนาการปลูกข้าวและพันธุ์ข้าว การผลิตเมล็ดพันธุ์ การส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนา รวมถึงการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญอีกหนึ่งภารกิจที่กรมการข้าวต้องดำเนินการ
      โดยมีการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการผลิตข้าวคุณภาพให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องตามมาตรฐานสากล และได้รับความน่าเชื่อถือ ซึ่งปัจจุบันกรมการข้าวได้มีการว่าจ้างหน่วยรับรองภาคเอกชนในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวคุณภาพแทนกรมการข้าว แต่ยังคงสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจสอบรับรองแทนเกษตรกร โดยมีเป้าหมายส่วนน้อยที่กรมการข้าวดำเนินการตรวจรับรองเอง
          ทั้งนี้กรมการข้าว จะต้องดำเนินการถ่ายโอนภารกิจฯภายในปี 2570 ตามแผนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรับทราบแนวทางการถ่ายโอนภารกิจฯ ของกรมการข้าว และร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานที่ผ่านมาพร้อมหาแนวทางผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการถ่ายโอนภารกิจการฯ ของกรมการข้าว ให้เป็นไปตามแผนการถ่ายโอนภารกิจฯ ด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อไป
        ด้านนายมงคล จันทร์ประทัด  ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวคุณภาพของกรมการข้าว ณ วันนี้ มีด้วยกันทั้งหมด 5 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานที่ 1มาตรฐานระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว หรือ GAP Seed มาตรฐานที่ 2 มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวและข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าว GAP มาตรฐานที่ 3 มาตรฐานระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ มาตรฐานที่ 4 มาตรฐานโรงสีข้าว GMP และมาตรฐานที่ 5 เป็นมาตรฐานสินค้าข้าว Q  หรือ Q  Product
      เพราะฉะนั้นในระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวคุณภาพของกรมการข้าว จะให้การรับรองตั้งแต่กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ตรงตามพันธุ์และมีคุณภาพ ไปสู่ระบบการผลิตข้าวในแปลงนาจนได้ผลผลิตข้าวเปลือกที่มีคุณภาพ นำเข้าสู่โรงสีข้าวที่ได้มาตรฐาน GMP สุดท้ายให้การรับรองผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าข้าว Q  หรือข้าวสารบรรจุถุง และแสดงเครื่องหมาย Q ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อแสดงว่าสินค้าข้าวในถุงนั้นได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบรับรองที่ได้มาตรฐานจากกรมการข้าว
     สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสีข้าว และหน่วยตรวจรับรองที่เกี่ยวข้อง จำนวน  100 คน โดยกิจกรรมในการสัมมนา  ประกอบด้วยการบรรยาย เรื่อง การขับเคลื่อนการถ่ายโอนงานหรือกิจกรรมให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทน
      โดยวิทยากรจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี  และยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคในการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองข้าวคุณภาพของกรมการข้าว” โดยผู้แทนจากสำนักพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ชมรมหน่วยรับรองแห่งประเทศไทย ผู้รับบริการตรวจรับรองมาตรฐานข้าวคุณภาพและกรมการข้าว