กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกรปลูกลิ้นจี่นครพนม 1 สินค้า GI ของจังหวัดให้ยึดหลัก GAP สร้างรายได้ให้ถึง 100 บาท /กิโลกรัม พร้อมเสริมรายได้โดยผลิตต้นพันธุ์ขาย เลี้ยงผึ้งเพื่อจำหน่ายน้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ราคา200 บาท/ขวด รวมทั้งให้เช่าสวนเลี้ยงผึ้งสร้างรายได้ในชุมชน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 อยู่ในกลุ่มพันธุ์เบาเริ่มเก็บผลผลิตช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเมษายน โดยเป็นพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นไม่มากและไม่ยาวนานเหมือนลิ้นจี่ทางภาคเหนือก็สามารถออกดอกและให้ผลผลิตได้ซึ่งจังหวัดนครพนมมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงปลายฤดูฝนเดือนตุลาคมมีฝนน้อย (ไม่เกิน 60-80 มิลลิเมตร)ฤดูหนาวเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์มีอากาศหนาวเย็นอุณหภูมิเฉลี่ย 14.0-17.8 องศาเซลเซียส ซึ่งต่ำกว่า 20องศาเซลเซียสและอุณหภูมิสูงสุดไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส เหมาะต่อการออกดอกติดผลของลิ้นจี่ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 เนื่องจากในช่วงเวลาที่ให้ผลผลิตเป็นช่วงที่ผลผลิตลิ้นจี่มีน้อยทำให้ขายได้ราคาสูงถึง 100 บาท/กิโลกรัม
การปลูกลิ้นจี่ในจังหวัดนครพนมเป็นผลการขยายผลจากงานวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม กรมวิชาการเกษตร โดยมีการกระจายพันธุ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2535 และมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว จึงได้รับขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ของจังหวัดชื่อ “ลิ้นจี่นครพนม”ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 2,969 ไร่ ให้ผลผลิตรวม 1,574 ตัน มูลค่า 51.8 ล้านบาท เกษตรกรมีการผลิตต้นพันธุ์จำหน่ายในราคาต้นละ 40-100 บาทรวมทั้งยังมีการเลี้ยงผึ้งเพื่อจำหน่ายน้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ราคา 200 บาท/ขวด (750 มิลลิลิตร) หรือให้เช่าสวนสำหรับเลี้ยงผึ้งทำให้สามารถสร้างรายได้และเศรษฐกิจในชุมชนได้เป็นอย่างดี
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า แม้ว่าเกษตรกรจะประสบผลสำเร็จในการปลูกลิ้นจี่ แต่ก็ยังมีปัญหาโดยเฉพาะในสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ลิ้นจี่ออกดอกติดผลไม่สม่ำเสมอในแต่ละปีหรือในต้นเดียวกันผลร่วงมาก ปัญหาผลแตก และแมลงศัตรูทำให้ผลผลิตต่ำหรือด้อยคุณภาพ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนมจึงได้ทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องโดยแนะนำการปลูกลิ้นจี่นครพนม 1ตามคำแนะนำ (GAP) ดังนี้
ภายหลังการเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15+46-0-0 (1:1) อัตรา2-3 กิโลกรัม/ต้น ปุ๋ยคอก 50 กิโลกรัม/ต้น หลังแตกใบอ่อนชุดสุดท้ายเข้าสู่ระยะเพสลาด (ปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน) พ่นปุ๋ยทางใบสูตร0-52-34 จำนวน 3 ครั้ง ทุก 7 วัน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการออกดอกระยะผลเล็ก ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15+46-0-0+0-0-60 (1:1:1) อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น 1-2 ครั้งและก่อนเก็บเกี่ยว4-6 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-60 หรือ 13-13-21 อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น1-2 ครั้งช่วงออกดอกและติดผลให้น้ำ 200-300 ลิตร/ต้น/สัปดาห์ตัดแต่งกิ่งปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 หลังเก็บผลผลิต (เดือนพฤษภาคม) ตัดแต่งกิ่งแบบเปิดกลางทรงพุ่ม และแต่งกิ่งที่ผิดปกติออก 20-30% ครั้งที่ 2 ปลายฤดูฝน (เดือนตุลาคม) ตัดแต่งกิ่งที่อยู่ภายในทรงพุ่มและกิ่งไม่สมบูรณ์ออก 10% ให้ทรงพุ่มโปร่งแสงแดดส่องทั่วถึง
สำหรับการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้และหนอนเจาะขั้วผล วิธีที่ดีที่สุดคือห่อผลด้วยถุงกระดาษห่อผลไม้สีขาวหลังติดผล 30 วัน รองลงมาคือใช้กับดักฟีโรโมนเมทิลยูจินอล 2 กับดัก/ต้น ติดสูงจากพื้น 1.5 และ 2 เมตร หรือสุ่มนับผลร่วงสัปดาห์ละครั้งหลังติดผล 2 สัปดาห์ เมื่อพบการทำลายของหนอนเจาะขั้วผลมากกว่า 10% ฉีดพ่นด้วยสารคาร์บาริล85% WP อัตรา 45 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือไซฟลูทริน 5% อีซี อัตรา 5 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และระยะผลเริ่มเปลี่ยนสีฉีดพ่นด้วยปิโตเลียมออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตรส่วนการรักษาผลผลิตให้แช่ผลลิ้นจี่ในกรดเกลือ (HCL) เข้มข้น 3% + โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ (SMS) เข้มข้น 1% นาน 10 นาที ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม เก็บที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 % สามารถรักษาได้นานถึง30 วัน