ชู “โรงเรียนเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกอะโวคาโด” 1 ใน 7 ต้นแบบดันพืชเศรษฐกิจ ปี 66 พร้อมเนรมิตไม้ผลเมืองเทพสถิต

  •  
  •  
  •  
  •  

“โรงเรียนเกษตรกร ผ่านโครงการ “ส่งเสริมปลูกอะโวคาโด 1,000 ไร่ สร้างไม้ผลเมืองเทพสถิต” ให้แก่สมาชิกและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำการเกษตรกรรมแบบยั่งยืน พัฒนาศักยภาพด้วยแนวคิดตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตลอดปี 2565 ได้จัดอบรม จำนวน 4 รุ่น มีผู้ผ่านอบรม รวม 550 ราย ได้ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไร่เป็นการปลูกอะโวคาโด จำนวน 1,021 ไร่”

โรงเรียนเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกอะโวคาโด อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ที่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.หลัก) อำเภอเทพสถิต ส่วนสวนเทพพนา หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เป็น 1 ใน 7 โรงเรียนเกษตรกรต้นแบบพืชเศรษฐกิจ ปี 2566 ที่กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งขึ้น ตามนโยบายงานขับเคลื่อนการส่งเสริมการเกษตรด้วยกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ซึ่งสามารถสนองตอบตรงความต้องการ ทั้งประเด็นปัญหาและความต้องการอย่างแท้จริงของเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโด ที่เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจบ้านเทพพนา จำนวน 20 ราย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอะโวคาโดรวม 50 ไร่ โดยสิ่งที่เกษตรกรสมาชิกที่เข้าร่วมเรียนในโรงเรียนเกษตรกรแห่งนี้ ต้องการ คือ การได้เรียนรู้ถึงเทคนิคการปลูกอะโวคาโดอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การเลือกเมล็ดที่สมบูรณ์ การเลือกซื้อต้นพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา ฯลฯ เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ในวันนี้ โรงเรียนเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกอะโวคาโด อำเภอเทพสถิต ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และปฏิบัติด้วยตนเอง ตามกระบวนการเรียนรู้ของโรงเรียนเกษตรกร ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง เกษตรกรได้ร่วมคิด ร่วมกันแก้ปัญหา ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว นำมาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพดี คุ้มค่ากับการลงทุน กระบวนการผลิตปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างยั่งยืน

ด้วยการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจากสำนักงานเกษตรอำเภอเทพสถิต และสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิ เข้ามาทำหน้าที่เป็นวิทยากรพี่เลี้ยง สนับสนุนองค์ความรู้ตามความต้องการของเกษตรกร ให้มีการศึกษาทดลอง วิเคาะห์ และตัดสินใจโดยเกษตรกร อันนำมาสู่ผลสำเร็จในการเรียนรู้ตามความต้องการ และที่สำคัญ ยังเกิดการพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องแนวทางของ“โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ในด้าน ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ โรงเรียนเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกอะโวคาโด อำเภอเทพสถิต ได้มีการพัฒนาการผลิตและกระจายพันธุ์ดีสู่เกษตรกรสมาชิกและชุมชน มีการใช้เทคโนโลยีการจัดการดูแลที่เป็นนวัตกรรมใหม่ เพื่อการเพิ่มผลผลิต และสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ เช่น การป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยใช้เชื้อบีที กำจัดแมลงศัตรูพืชแมลง การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ เพื่อรักษา ป้องกัน โรครากเน่า และใช้นวัตกรรมเห็ดเรืองแสง ป้องกันโรครากเน่า เป็นต้น

ด้าน เศรษฐกิจหมุนเวียน ได้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การนำผลผลิตที่มีขนาดเล็ก หรือผลที่ผิวมีตำหนิ มาแปรรูปเป็นอะโวคาโดพร้อมทาน บรรจุถุงขนาด 0.5 กิโลกรัม นำมาแช่แข็งเก็บไว้ในตู้ทำความเย็น  มีจำหน่ายตลอดทั้งปี สะดวกในการขนส่ง โดยขณะนี้มียอดจำหน่ายแล้วถึง 847 กิโลกรัม ๆ ละ 500 บาท รวมรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 423,500 บาท อีกทั้งยังได้ทำน้ำปั่นอะโวคาโดออกจำหน่าย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังมีสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ ด้วยการใช้เทคนิคการแปรรูปขั้นสูง เพื่อสนองตอบต่อ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เช่น การวิจัยการผลิตน้ำมันอะโวคาโด ผลิตสบู่อะโวคาโด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ส่วนด้าน เศรษฐกิจสีเขียว ได้มีการจัดอบรมเกษตรกรตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร ผ่านโครงการ “ส่งเสริมปลูกอะโวคาโด 1,000 ไร่ สร้างไม้ผลเมืองเทพสถิต” ให้แก่สมาชิกและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำการเกษตรกรรมแบบยั่งยืน พัฒนาศักยภาพด้วยแนวคิดตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตลอดปี 2565 ได้จัดอบรม จำนวน 4 รุ่น มีผู้ผ่านอบรม รวม 550 ราย ได้ส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชไร่เป็นการปลูกอะโวคาโด จำนวน 1,021 ไร่ หรือเฉลี่ยคนละ 2 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ได้รับการฝึกอบรมได้รับการถ่ายทอดความรู้ เช่น การปรับเปลี่ยนจากพืชไร่สู่ไม้ผลและการเตรียมพื้นที่แปลงปลูก เทคนิคการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดี การรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังเกิดการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น การจัดกิจกรรม ชมทุ่งกระเจียว เที่ยวสวนเกษตรเทพสถิต โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้ถึง 450 ราย มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต มีมูลค่ามากกว่า 500,000 บาท

โรงเรียนเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกอะโวคาโด อำเภอเทพสถิต จึงเป็นความสำเร็จ ที่ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง จนนำมาสู่การพัฒนาอาชีพ เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ดั่งที่ปรากฏเช่นในวันนี้