สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตร จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ชูผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้วกว่า 297 ล้านบาท เผยผลผลิตที่แปรรูปเป็นวุ้นเส้น คิดเป็นมูลค่า 432-648 ล้านบาท ชี้เป็นหนทางที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี “การพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยกรมวิชาการเกษตร ผ่านการขยายผลและสาธิตเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานชั้นพันธุ์ของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 เพื่อพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 โดยงานนี้ จัดขึ้นที่กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ถั่วเขียว อำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร โดย ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 มีการนำไปใช้ประโยชน์ระหว่างปี 2562-2565 ปริมาณรวม 589 ตัน ผู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก ขอนแก่น หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ และด้านหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัย โครงการตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (พืชหลังนา) โครงการศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชน เป็นต้น
ที่ผ่านมา สามารถนำไปปลูกได้ในพื้นที่ 83,700 ไร่ ได้ผลผลิต 11,878 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์เป็นเงิน 297 ล้านบาท เมื่อนำผลผลิตแปรรูปเป็นวุ้นเส้น จะได้ผลิตภัณฑ์ประมาณ 3,600 ตัน (สัดส่วนเมล็ดถั่วเขียวต่อวุ้นเส้น เท่ากับ 10:3) คิดเป็นมูลค่า 432-648 ล้านบาท (ราคาวุ้นเส้น 120-180 บาทต่อกิโลกรัม) ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับถั่วเขียว และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศไทย
ลักษณะเด่นของถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 นี้ คือให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 232 กิโลกรัมต่อไร่ ขนาดเมล็ดใหญ่ โดยให้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 72 กรัมให้เปอร์เซ็นต์แป้ง 58.4 เปอร์เซ็นต์ และโปรตีน 24.1 เปอร์เซ็นต์ เหมาะสำหรับการเพาะถั่วงอก โดยให้น้ำหนักสดถั่วงอก 5,700 กรัม ต่อน้ำหนักเมล็ด 1,000 กรัม คุณภาพของถั่วงอกมีรสชาติหวาน กรอบ และไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว เหมาะสำหรับการแปรรูปเป็นวุ้นเส้น ลักษณะวุ้นเส้นมีสีขาวใส และเหนียวนุ่ม การสุกแก่ของฝักสม่ำเสมอ ใกล้เคียงกันได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ปี 2564 จากสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี “การพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3” มีผู้เข้าร่วมงานรวมจำนวน 100 คนประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ถั่วเขียวจังหวัดพิจิตร ผู้บริหารและนักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนจากสหกรณ์การเกษตร ภาคเอกชน และผู้รวบรวมผลผลิตถั่วเขียว ภายในงานมีการสาธิตการใช้เทคโนโลยีการผลิตถั่วเขียวเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เทคโนโลยีการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตเพิ่มผลผลิตและคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวฤดูแล้งหลังนา การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถสร้างปมรากกับพืชตระกูลถั่ว และเจริญอยู่ภายในปมรากแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สามารถลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนได้ 50-100 %
ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีการพัฒนารูปแบบปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมชนิดเหลว ซึ่งจะช่วยให้การยึดติดกับเมล็ดพันธุ์ดีขึ้นและใช้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่ติดรูจานหยอดของเครื่องปลูกทำให้ใช้สะดวกมากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการพัฒนาและขยายเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวพันธุ์ชัยนาท 3 ระหว่างเกษตรกร เครือข่ายเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ประกอบการแปรรูปถั่วเขียว อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว