พิษเอลนีโญ คาดแล้งนานถึงต้นปีหน้า แนะเกษตรกรเร่งวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วง

  •  
  •  
  •  
  •  

พิษเอลนีโญ คาดจะแล้งยาวนานถึงต้นปีหน้า กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรเร่งวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วง ด้วยการกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอ และเน้นเลือกปลูกพืชอายุสั้นใช้ระยะเวลาเพาะปลูกถึงเก็บเกี่ยวราว 25-40 วัน

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ได้เปิดเผยข้อมูลความก้าวหน้าการเตรียมรับมือสถานการณ์เอลนีโญ จากเดิมที่คาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5 และมีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2566 แต่จากการติดตามผลพบว่า คาดการณ์ความรุนแรงของเอลนีโญอาจทำให้เกิดฝนทิ้งช่วงยาวนานจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นและหลายจังหวัดอาจประสบกับปัญหาภัยแล้ง กระทบต่อปริมาณน้ำอุปโภคบริโภค รวมถึงน้ำเพื่อการเกษตรได้ ซึ่งที่ประชุมได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและฝนทิ้งช่วงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งด้านการเกษตรและด้านอุปโภคบริโภคเพื่อผลิตน้ำประปา รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนป้องกันและช่วยเหลือประชาชนคู่ขนานไปกับการสร้างการรับรู้ให้กับเครือข่ายภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนให้เกษตรกรที่จะเพาะปลูกพืชในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนนี้ วางแผนกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในเวลาที่ฝนทิ้งช่วง หรือเลือกปลูกพืชอายุสั้น/พืชผัก เช่น ผังบุ้ง ตำลึง กะหล่ำปลี คะน้า ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเพาะปลูกประมาณ 25-40 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายกรณีขาดแคลนน้ำในช่วงดังกล่าว โดยมีข้อควรคำนึงคือในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง เกษตรกรจำเป็นต้องให้น้ำแก่พืชผักอย่างเพียงพอ สม่ำเสมอเพราะหากขาดน้ำจะทำให้พืชผักโดยเฉพาะพืชผักรับประทานผล จะได้รับความเสียหายหรือผลแตกเมื่อฝนตกลงมาอีกครั้ง

สำหรับคำแนะนำวิธีการปลูกและดูแลรักษาพืชผักช่วงฤดูฝนในสถานการณ์ปกติมีดังนี้ 1) การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ด 2) ยกแปลงให้สูงไม่ต่ำกว่า 30 เซ็นติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้รากพืชขาดอากาศเนื่องจากแช่ในน้ำนาน 3) เพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มช่องว่างในดิน 4) ใส่ปูนขาว 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อลดความเป็นกรดของดิน 5) รดกล้าผักด้วยน้ำปูนใส สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง 6) หมั่นกำจัดวัชพืช และ 7) ใช้วัสดุคลุมแปลง ป้องกันความเสียหายของผิวหน้าดินและระบบรากพืชที่เกิดจากเม็ดฝน

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำให้เกษตรกร โดยเฉพาะผู้ที่ทำการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน สร้างแหล่งกักเก็บสำรองน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง เตรียมพร้อมสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนที่จะถึงนี้ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ โดยขอเน้นย้ำให้เกษตรกรติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง หรือสามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน