เลือกแล้ว!! “กำนันอ๋อ” เจ้าของ “สวนมะม่วงโชคอนันต์ร้อยล้าน” การันตีคุณภาพด้วยรางวัล GAP ดีเด่นแห่งชาติ

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตรเลือกแล้วกำนันอ๋อ “สายชล จันทร์วิไร” เจ้าของ “สวนมะม่วงโชคอนันต์ร้อยล้าน” ที่อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย การันตีคุณภาพด้วยรางวัล GAP เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) พร้อมแนะเทคนิคการตัดแต่งกิ่งมะม่วงแบบง่ายๆ 3 วิธี ” ตัดแต่งกิ่งแบบบางเบา-ปานกลาง-แบบหนัก”

     นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ในปี 2566 กรมวิชาการเกษตรได้คัดเลือกให้นายสายชล จันทร์วิไร เกษตรกรเจ้าของสวนมะม่วงโชคอนันต์ พื้นที่ 5 ไร่ ณ ตำบลน้ำขุม อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP)  ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงาน  โดยเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติจะได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  ประจำปี 2566 ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวงด้วย 

     นายสายชล หรือ กำนันอ๋อ ได้รับรหัสรับรองแหล่งผลิต GAP จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุโขทัย  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก  เริ่มประกอบอาชีพทำสวนมะม่วงโชคอนันต์ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี  โดยปรับเปลี่ยนพื้นที่นาเป็นสวนมะม่วงโชคอนันต์  จุดเด่นการทำสวนมะม่วงของนายสายชลจะเน้นการปลูกมะม่วงระยะชิด (2×3เมตร) 250 ต้น/ไร่ และตัดแต่งกิ่งไม่ให้สูงอยู่เสมอ ทำให้มีการจัดการผลผลิตได้ง่าย ได้ผลผลิตมาก เก็บเกี่ยวง่าย ใช้แรงงานน้อย  ปลอดโรคและแมลงศัตรูพืช  ลดปริมาณวัชพืชใต้ทรงพุ่ม  และทำให้การจัดการพ่นสารเคมีและฮอร์โมนทำได้ง่ายขึ้น

      นอกจากนี้นายสายชลยังลดต้นทุนการผลิตโดยทำฮอร์โมนธาตุอาหารรองแคลเซียมโบรอนใช้เอง จากปกติต้องซื้อร้านค้าราคาลิตรละ 250 – 1,000 บาท  สามารถลดต้นทุนลงเหลือลิตรละ 20 บาท/ลิตร  รวมทั้งยังผสมปุ๋ยใช้เองทำให้ประหยัดกว่าซื้อแบบสูตรสำเร็จตามท้องตลาดทั่วไป  และยังใช้กรดน้ำส้ม 99 เปอร์เซ็นต์(กรดอะซิติก) มาใช้ป้องกันจำกัดโรคและแมลงในสวนมะม่วงทำให้ลดการใช้สารเคมีได้เป็นอย่างมาก  โดยนายสายชลจะปลูกมะม่วงตอนต้นฤดูฝน หรือประมาณเดือนพฤษภาคม–กรกฎาคม เนื่องจากในฤดูฝนอากาศมีความชุ่มชื้นดี ทำให้มะม่วงตั้งตัวได้เร็ว และสะดวกทำให้ไม่ต้องรดน้ำในระยะแรก 

     สำหรับเทคนิคการตัดแต่งกิ่งมะม่วงของนายสายชลมี 3 วิธี คือ ตัดแต่งกิ่งแบบบางเบา เป็นการบังคับ และเลือกกิ่งให้เจริญเติบโตไปในทิศทางที่ต้องการ โดยตัดแต่งกิ่งที่ไม่ต้องการออก ตัดแต่งแบบปานกลาง เมื่อพุ่มต้นใกล้จะชนกัน โดยตัดกิ่งรอบนอกทรงพุ่มทั้งหมดจากปลายยอดลึกเข้าหาศูนย์กลางต้นยาวประมาณ 50-100เซนติเมตร  มะม่วงจะผลิตา แตกกิ่ง–ใบใหม่มาทดแทน และ ตัดแต่งกิ่งแบบหนัก เมื่อต้นอายุมากถูกโรคและแมลงทำลาย หรือทรุดโทรม  ควรสร้างโครงสร้างต้นมะม่วงใหม่ (แต่งสาว) โดยตัดแต่งกิ่งเปิดกลางทรงพุ่มให้มีความสูง 1.5-3.0 เมตร ปริมาตรทรงพุ่มโดยตัดออกไปประมาณครึ่งหนึ่ง 

      จากนั้นกิ่งจะผลิตาให้กิ่งแขนงใหม่ทำการคัดเลือกและตัดแต่งกิ่งอย่างบางเบา 1-2 ครั้ง  เมื่อกิ่งแขนงใหม่บริเวณกลางทรงพุ่มมีโครงสร้างเจริญเติบโตแข็งแรงมาทดแทนกิ่งเดิม ให้ตัดแต่งกิ่งโครงสร้างเก่าที่อยู่รอบนอกของโครงสร้างใหม่ออกให้มีความยาวใกล้เคียงกับการตัดแต่งกิ่งเปิดกลางทรงพุ่ม คัดเลือกกิ่งและตัดแต่งกิ่งแบบบางเบา 1-2 ครั้ง  ช่วงแรกผลผลิตจะลดลงบ้างประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์ แต่จะสามารถให้ผลผลิตได้เต็มที่ในปีที่ 3 หลังจากเริ่มตัดแต่งกิ่ง  

       ในปี 2565 สวนมะม่วงโชคอนันต์ได้ผลผลิตเฉลี่ยรวม 4,000 – 5,000 กิโลกรัม/ไร่ รวมรายได้เฉลี่ย 375,000 บาท/ไร่  โดยผลผลิตที่จำหน่ายจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ มะม่วงขายอ่อน (มะม่วงยำ)  เป็นมะม่วงที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 100-120 วัน  ความแก่ 60-70 % จำหน่ายได้ราคาสูงสุด 22บาท/กิโลกรัม,  มะม่วงแก่ผิวไม่สวย (มะม่วงโรงงาน) อายุการเก็บเกี่ยว 120-140  วัน ความแก่ 80-90 % ส่งโรงงานอุตสาหกรรมการแปรรูปขายได้ราคาสูงสุด 7 บาท/กิโลกรัม, และ มะม่วงแก่ผิวสวย อายุการเก็บเกี่ยว 120-140  วัน ความแก่ 80-100 % เพื่อส่งตลาดขายสุก โดยต้องห่อผลมะม่วงด้วยถุงคาร์บอน และต้องได้รับมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP)  ราคาที่จำหน่ายได้สูงสุด 40 บาท/กิโลกรัม  

          นายสายชลเป็นเกษตรกรต้นแบบที่มีความอดทนและไม่ละความพยายามในการพัฒนาสวนมะม่วงโชคอนันต์ให้ประสบความสำเร็จทั้งของตนเองและสมาชิกในกลุ่มเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการส่งออก  ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ทั้งหมด 34 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจรับรองมาตรฐานฯอีก 31 ราย  รวมทั้งยังมีการแปรรูปผลผลิตมะม่วงในรูปแบบต่างๆเพื่อเพิ่มมูลค่าและลดของเสียที่มาจากผลผลิตทางการเกษตร (ZERO WAST) นอกจากนี้ยังคิดค้นนวัตกรรมเครื่องคัดแยกมะม่วงแก่อ่อนเพื่อลดการส่งคืนผลิตจากโรงงานหรือบริษัททำให้เป็นที่รู้จักในชื่อ“มะม่วงโชคอนันต์ร้อยล้าน”