ปีทองเงาะภาคตะวันออกราคาพุ่งสุดๆ ย้ำ…เกษตรกรอย่าใช้สารเร่งสุก ชี้กระทบด้านการตลาด
ผลผลิตเงาะภาคตะวันออกปีนี้ราคาพุ่งสุดๆ กรมวิชาการเกษตร วอนเกษตรกรอย่าใช้สารกลุ่มเอทธิลีนเร่งสุกหรือเร่งสีผลเงาะ เตือน!! หากใช้ไม่ถูกวิธีผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ส่งผลกระทบระบบตลาด ย้ำต้องเน้นหลักการผลิตพืชตาม GAP
นายชูชาติ วัฒนวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มเก็บเกี่ยวผลเงาะโดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด ซึ่งราคาเงาะในช่วงต้นฤดูมีการรับซื้อในราคาสูงทำให้เกษตรกรบางรายมีการเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อให้ทันกับช่วงราคาดังกล่าวทำให้ผลผลิตเงาะไม่ได้คุณภาพทาง นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้สั่งการให้สถาบันวิจัยพืชสวนพร้อมหน่วยงานในพื้นที่เข้าติดตามสถานการณ์ดังกล่าวพร้อมให้คำแนะนำที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแก่เกษตรกร โดยมีนายสมพร เหรียญรุ่งเรือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เข้าตรวจติดตามในพื้นที่ ต.นนทรี อ.บ่อไร่ จ.ตราด พบว่ามีการใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตกลุ่มอีทีฟอนเพื่อเร่งให้ผลเงาะเป็นสีแดง โดยเฉพาะในระยะที่เงาะเริ่มเข้าสีเพื่อให้เงาะมีสีแดงสม่ำเสมอ แต่มีเกษตรกรบางรายนำมาพ่นในระยะที่เนื้อของผลเงาะยังไม่พัฒนาเต็มที่เพื่อที่จะเร่งให้สีเงาะเปลี่ยนเป็นสีแดงและสามารถเร่งขายให้ทันในช่วงต้นฤดูกาลที่มีราคาสูง
ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรไม่แนะนำให้ใช้สารเพื่อเร่งการสุกหรือเร่งให้มีสีกับผลผลิตเงาะเพราะหากใช้ไม่ถูกต้องหรือผิดวิธีจะทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ส่งผลกระทบต่อปลายทางหรือระบบตลาดได้ โดยเฉพาะในกรณีของสารกลุ่มเอทธิลีน เช่น สารอีทีฟอนที่สามารถเร่งการสุกของผลไม้ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังทั้งปริมาณและช่วงเวลาที่ใช้ โดยต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและในระยะที่เนื้อผลมีการพัฒนาเต็มที่หรือในระยะที่ 3 หากมีการใช้มากเกินไปในช่วงที่ผลยังไม่มีความสมบูรณ์ทางสรีรวิทยา (ระยะที่ 1 – 2) ถึงแม้จะทำให้ผิวเปลือกเปลี่ยนเป็นสีแดงได้ แต่เนื้อภายในจะยังไม่มีการพัฒนาจนสุกตามปกติทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ
“ได้เร่งประสานกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันรณรงค์ห้ามใช้สารเร่งสุกแก่และให้สารวัตรเกษตรไปย้ำเตือนผู้ขาย ร้านเคมีเกษตร ให้แนะนำวิธีการใช้ที่ถูกต้องให้กับเกษตรกร พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ตรวจสอบความเข้มข้นสารตกค้าง ป้องกันอันตราย และรักษาคุณภาพตลาด เน้นย้ำหลักการผลิตพืชตาม GAP ซึ่งเป็นหลักการผลิตทางการเกษตรที่ดี ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเป็นการรักษามาตรฐาน คุณภาพของผลไม้ไทย ให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและตลาด” นายชูชาติ กล่าว