กรมส่งเสริมการเกษตร เฝ้าระวัง “หนอนกินใบมะพร้าว” แพร่ระบาดสร้างความเสียหาย เผยล่าสุดหวนกลับระบาดพบที่ชุมพรอีกในพื้นที่อำเภอสวี ทำลายสวนมะพร้าวอีกกว่า 200ไร่ เตือนเกษตรกรหมั่นสำรวจสวน พร้อมแนะนำป้องกันกำจัดและให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า หนอนกินใบมะพร้าว (Coconut leaf moth) หรือ หนอนบุ้งเล็ก เป็นศัตรูสำคัญของมะพร้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศเริ่มพบระบาดหนักในปี 2551 ในแปลงมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน ที่อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร สร้างความเสียหายกว่า 300 ไร่ ต่อมาพบการระบาดในมะพร้าวที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส สร้างความเสียหายในพื้นที่กว่า 400 ไร่
ในเดือนมีนาคม 2566 พบเข้าทำลายสวนมะพร้าวตำบลท่าหิน อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ประมาณ 200ไร่ เบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือแนะนำเกษตรกรแล้ว พร้อมเน้นย้ำถึงวิธีการป้องกันกำจัดหนอนกินใบมะพร้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวจังหวัดชุมพร และชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเร่งป้องกันกำจัดและควบคุมได้ทันเวลาก่อนจะแพร่ระบาดเป็นบริเวณกว้างและสร้างความเสียหายให้แก่สวนมะพร้าวส่งผลกระทบต่อเกษตรกร
หนอนกินใบมะพร้าวมีวงจรชีวิต 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่ 3-5 วัน ระยะหนอน 18-20 วัน ระยะดักแด้ 8-10 วัน และระยะตัวเต็มวัย รวมวงจรชีวิตประมาณ 29 – 35 วัน โดยตัวเต็มวัยจะเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กสีน้ำตาลเทา ลักษณะเด่น คือ ขณะเกาะจะทำมุมประมาณ 60 องศา เฉพาะส่วนปลายท้องและขาเท่านั้นที่เกาะใบพืช ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานจากช่อดอกมะพร้าวเป็นอาหาร และสามารถบินอพยพระหว่างสวนมะพร้าวได้ประมาณ 1 – 1.5 กิโลเมตร โดยจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวใต้ใบมะพร้าว หลังจากฟักหนอนจะกัดกินอยู่ใต้ใบ หนอนขนาดเล็กจะแทะผิวใบเป็นทางยาว เมื่อหนอนโตเต็มที่จะกัดกินที่ขอบใบ ทำให้ใบขาดแหว่ง กัดกินใบจากล่างไปยอดทำให้ใบเหลืองและแห้ง จากนั้นจะเข้าดักแด้ในรังไหมสีเหลืองอมเทาบริเวณเส้นกลางใบ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอแจ้งเตือนและเน้นย้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวโดยเฉพาะภาคใต้ หมั่นสำรวจสวน หากพบการทำลายของศัตรูดังกล่าวให้เร่งกำจัดตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรทันที
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการป้องกันกำจัด หากสังเกตพบใบมะพร้าวเหลืองหรือแห้งผิดปกติ ให้เกษตรกรสำรวจดูใต้ใบ หากพบหนอนหรือดักแด้ให้ตัดใบและนำเศษซากไปทำลายทิ้งนอกแปลง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่พันธุ์ และหากพบการแพร่ระบาดจำนวนมาก ให้ใช้สารป้องกันกำจัดตามคำแนะนำคือ มะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้สารเคมีอีมาเมกติน เบนโซเอต 1.92% EC ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยเจาะลำต้นมะพร้าวสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ใช้ดอกสว่านขนาด 4 – 5 หุน เอียงลง 45˚ เจาะลึก 10 เซนติเมตร เจาะ 2 รู ให้รูอยู่ตรงกันข้ามกัน ใส่สารรูละ 15 มิลลิลิตร จากนั้นใช้ดินน้ำมันอุดรูทันที วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนได้นานมากกว่า 3 เดือน
ส่วนมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร เช่น มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ทำน้ำตาลให้ใช้วิธีการพ่นสารทางใบ ได้แก่ ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม หรือคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือสปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน
…………………………….