กรมวิชาการเกษตร หารือคณะเลขาธิการชมรมมะพร้าวนานาชาติ เตรียมความพร้อมจัดประชุม ICC Session/Ministerial Meeting เสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของอุตสาหกรรมมะพร้าว และยืนยันว่าผลิตมะพร้าวไทยทั้งหมดปราศจากการใช้แรงงานลิง
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้การต้อนรับ นางเจลฟินา ซี อะลูว์ เลขาธิการชมรมมะพร้าวนานาชาติ (International Coconut Community: ICC) และเจ้าหน้าที่บริหารการเงินของชมรมฯ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ หารือกระบวนการผลักดันการใช้เครื่องหมาย GAP MFP (GAP Monkey Free Plus) และการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ เพื่อยืนยันว่าผลิตมะพร้าวไทยทั้งหมดปราศจากการใช้แรงงานลิง ไม่ใช่ตามที่สมาคม PETA กล่าวหา นอกจากนี้ยังมีการหารือการเตรียมความพร้อมในการประชุมประจำปี 2566/67 ของคณะผู้บริหารชมรมฯ ICC Session/Ministerial Meeting ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 และเสนอแผนงานและกิจกรรม ICC ตลอดปี 2566 ตลอดจนหารือแนวทางเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของอุตสาหกรรมมะพร้าว
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ได้ขอให้ ICC ช่วยประชาสัมพันธ์ การขับเคลื่อนมาตรการตรวจรับรองแปลง GAP Monkey free plus รวมทั้งผลักดันการใช้เครื่องหมาย GAP MFP (GAP Monkey Free Plus) และการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ รวมถึงประชาสัมพันธ์ถึงสถานทูตต่างๆ โดย ICC แจ้งว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการย่อยของ ICC เพื่อหารือเรื่องนี้เป็นพิเศษในสัปดาห์หน้า เพื่อยืนยันว่าผลิตมะพร้าวไทยทั้งหมดปราศจากการใช้แรงงานลิง ซึ่งปัจจุบันมีแปลงที่ผ่านการตรวจประเมิน GAP MFP เป็นแปลงมะพร้าวแกง 1,372 แปลง รวมพื้นที่ 13,546 ไร่ และ แปลงมะพร้าวอ่อน 533 แปลง รวมพื้นที่ 6,597 ไร่ มีเป้าหมายจะตรวจให้ครอบคลุม แปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP แล้วอีกประมาณ 4,526 แปลง 47,125 ไร่ และตรวจให้เกษตรกรและเกษตรกรที่ผู้ประกอบการแจ้งความประสงค์ไว้ภายในเดือน กันยายน 2566 นี้
ICC ให้ความสำคัญกับ แนวทางส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าว การส่งเสริมอุตสาหกรรม และการปลูกทดแทนประชากรมะพร้าวอายุมาก ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม แผนกลยุทธมะพร้าวที่ได้มีการประชุมของคณะทำงาน TWG ทุกปี ประเทศไทยมีแนวทางการดำเนินการในหลายมิติตามแผนนี้ กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการปรับปรุงพันธุ์-ผลิตพันธุ์มะพร้าว และส่งเสริมการปลูกทดแทน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในเชิงนโยบายกับประเทศสมาชิก ICC ในการประชุมประจำปี
ในการประชุมมะพร้าวโลก ในปี 2565 ที่มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพ ที่ประชุม ICC มีการคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ มีการอภิปราย และ บรรยายในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็ตรงกับการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตร ที่เป็นแกนหลักในโครงการริเริ่มคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยจับมือกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน): อบก. จัดทำ MOU ร่วมกัน เพื่อพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต T-Ver นำร่องในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน และมะม่วง
“ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเส้นฐานคาร์บอนเครดิตระดับประเทศ (National Carbon Credit Baseline) และต้องการพัฒนาศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร จึงขอให้ทาง ICC บรรจุการอบรมเรื่องนี้ไว้ในกิจกรรมของ ICC ในปีต่อไปด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
สำรับชมรมมะพร้าวนานาชาติ เดิมชื่อชมรมมะพร้าวแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCC) ก่อตั้งเมื่อปี 1964 ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันอายุครบ 59 ปี มีสมาชิก 20 ประเทศ รวมจาเมกา กุยานา และ เคนยา ที่อยู่นอกเอเชียและแปซิฟิก แต่ละปี ICC จะมีแผนการดำเนินการในรอบปี เช่น การจัดประชุม อบรม สัมมนา และกิจกรรมด้านมะพร้าวให้กับประเทศกลุ่มสมาชิก