เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
กรมส่งเสริมการเกษตร วอนเกษตรกร 13 จังหวัด งดทำนาปรังรอบ 2 และให้ปลูกพืชหลังนาใช้น้ำน้อยแทน เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และระบบชลประทาน ลดเสี่ยงขาดทุน หากข้าวขาดน้ำ หลังพบว่ามีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ไปกว่า 12.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนการปลูกข้าวทั้งหมด
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 รอบ ได้แก่ การปลูกข้าวนาปี (1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม) และ การปลูกข้าวนาปรัง (1 พฤศจิกายน – 30 เมษายน) และหากมีการปลูกข้าวอีกจะเป็นนาปรังรอบที่ 2 (1 มีนาคม – 30 เมษายน) ซึ่งจะเป็นการปลูกข้าวเป็นรอบที่ 3 ของปี ซึ่งจากสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ณ วันที่ 15 มีนาคม 2566 ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 พบว่า มีการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 จำนวน 12.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนการปลูกข้าว โดยแบ่งเป็นในเขตชลประทาน 9.61 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.62 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.97 ล้านไร่ และเกษตรกรจะทยอยเก็บเกี่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา
ดังนั้น หากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ต่อเนื่องทันที จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของข้าวที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูกและกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอความร่วมมือเกษตรกร 13 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี นครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี งดทำนาปรังรอบ 2 เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน ลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ
เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ ทั้งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์จากภาวะน้ำเค็มรุกท้ายลุ่มเจ้าพระยา ประกอบกับข้อมูลจากการแถลง “การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566” เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าประเทศไทยตอนบนจะมีฝนใกล้เคียงค่าปกติ ภาคใต้ปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในปลายเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม 2566 และข้อมูลจากกรมชลประทาน เรื่องการขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดการทำนาต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดฤดูกาล
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การพักนาไม่ปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องนั้น มีประโยชน์และผลดีหลายด้าน ได้แก่ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนเนื่องจากต้นข้าวยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของประเทศ เป็นการพักดินเพื่อลดปัญหาการสะสมของโรคและแมลงศัตรูข้าว โดยเกษตรกรสามารถปลูกพืชปุ๋ยสดแทนเพื่อปรับปรุงดินให้ดีขึ้น เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม โสนอัฟริกัน ถั่วเขียว หรือพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้ปุ๋ยในฤดูกาลผลิตถัดไปได้
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีแหล่งน้ำของตนเองหรือแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่ประเมินแล้วว่าเพียงพอต่อการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชที่มีตลาดรองรับในพื้นที่ ประกอบด้วย กลุ่มพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด และถั่วลิสง กลุ่มพืชสมุนไพร เช่น อัญชัน ตะไคร้ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาวเรืองตัดดอก และอโกลนีมา และ กลุ่มพืชผัก เช่น ตระกูลกะหล่ำ ตระกูลแตง ตระกูลถั่ว ตระกูลมะเขือ ผักกินใบ พืชหัว กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพดฝักสด และเห็ด สำหรับเกษตรกรที่ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน