มอบกรมส่งเสริมฯ-กรมวิชาการเกษตร ทำโครงการดันทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพฯ มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร จัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพโดยเพิ่มการป้องปราม ตั้งแต่สวนจนถึงมือของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ หวังยกระดับเพิ่มความเข้มข้นป้องปราม ขับเคลื่อนทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ

นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ของเกษตรกรเพื่อการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (135) และผ่านระบบ Zoom Meeting โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) โดย กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร และการซ้อมแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดย เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี เกษตรจังหวัดจันทบุรี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6

นายสุรเดช กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญในการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนทุเรียนด้อยคุณภาพเพื่อให้ผลผลิตทุเรียนที่จะทำการส่งออกต้องได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานการส่งออกที่กำหนด โดยในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เพิ่มความเข้มข้นในการป้องปรามปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพและการสวมสิทธิ์ใช้ใบรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินงาน ดังนี้ คณะทำงานแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร จัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพโดยเพิ่มการป้องปรามตั้งแต่สวนจนถึงมือของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

ด้วยการระดมเจ้าหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวบรวมประมวลเป็นโครงการในภาพรวม เสนอคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) พิจารณา อาทิ โครงการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งเนื้อทุเรียนก่อนตัด เพื่อควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดในฤดูกาลผลิต ปี 2566 พร้อมกันนี้ได้มีการยกระดับกระบวนการส่งออกทุเรียนให้มีความแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสนับสนุนการปฏิบัติงาน และกำกับดูแลคุณภาพของทุเรียน ตั้งแต่สวน โรงคัดบรรจุ จนถึงการส่งออก ซึ่งความคืบหน้าล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความเห็นชอบแผนงานดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณต่อไป

นอกจากนี้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติงาน (รายเดือน) เพื่อกำกับติดตามผลการปฏิบัติงาน และให้มีการรายงานผลการดำเนินงานรวมถึงปัญหาอุปสรรคเป็นประจำ พร้อมทั้งให้นำข้อมูลผลการปฏิบัติงานไปใช้ในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งเพื่อให้ฝ่ายเลขาฯ สรุปและรายงานผลการดำเนินงานให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบต่อไป