คณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ถกร่างแผนปฏิบัติการระยะยาวและแผนปฏิบัติการประจำปี 2566

  •  
  •  
  •  
  •  

 

       เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม  2565 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ครั้งที่ 2/2565 และคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณาร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการขอจัดสรร ขอเงินช่วยเหลือหรือขอเงินอุดหนุนจากกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ….  พร้อมทั้งพิจารณาร่างแผนปฏิบัติการระยะยาว ปี พ.ศ.2566–2570 และแผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ.2566 ของกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช

     ต่อมานางสาวอิงอร เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ครั้งที่ 2/2565ในปีนี้เป็นการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Application Zoom Meetingโดยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นคณะกรรมการและเลขานุการ มอบหมายให้ นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ  ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองพันธุ์พืชเป็นเลขานุการ คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้แทนเกษตรกรภาคกลางและภาคตะวันออก และเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร

   การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1.รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565, 2.แจ้งกำหนดปฏิทินการประชุมคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ประจำปี พ.ศ.2566, 3.แจ้งผลการดำเนินงานของกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ประจำปี พ.ศ.2565 (มกราคม–ตุลาคม 2565),4.พิจารณาร่างระเบียบคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการขอจัดสรร ขอเงินช่วยเหลือหรือขอเงินอุดหนุนจากกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ…., และ5. พิจารณาร่างแผนปฏิบัติการระยะยาว ปี พ.ศ.2566–2570 และแผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ.2566 ของกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช

    นางสาวอิงอร  กล่าวอีกว่า กองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชพ.ศ. 2542 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงพันธุ์พืชและพัฒนาพันธุ์พืชให้มีพันธุ์พืชใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมอันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาด้านเกษตรกรรมโดยการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจด้วยการให้สิทธิและคุ้มครองพันธุ์พืชตามกฎหมายเพื่อเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาการใช้ประโยชน์พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่าเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน

      ทั้งนี้ กองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชได้เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลตั้งแต่ปี 2555 โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืช ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อวัดผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน 6 ด้านคือ 1.ด้านการเงิน 2.ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3.ด้านการปฏิบัติการ 4.ด้านการบริหารทุนหมุนเวียน 5.ด้านการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารผู้บริหารทุนหมุนเวียนพนักงานและลูกจ้างและ 6.ด้านการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ/กระทรวงการคลังซึ่งเป็นไปตามมาตรา 54 พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชพ.ศ.2542