ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่คุมเข้มส่งออกทุเรียนใต้ ย้ำทุกภาคส่วนดัน “ทุเรียนไทยดีที่สุดในโล ”

  •  
  •  
  •  
  •  
ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่คุมเข้มส่งออกทุเรียนใต้ สยบปัญหาทุเรียนอ่อนและสวมสิทธิ์ ชี้ส่งออกทุเรียนสดไปจีนขณะนี้ไม่ได้มีไทยประเทศเดียวยังมีประเทศเวียดนาม และอาจมีประเทศอื่นๆ ในอนาคต ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันกำหนดทิศทางทุเรียนไทย สร้างความแตกต่าง จุดเด่นที่สำคัญคือมาตรฐานและคุณภาพ เพื่อรักษาภาพลักษณ์และตลาดการส่งออกให้ยั่งยืน เป็น“ทุเรียนไทยดีที่สุดในโล ”  ขณะที่กรมวิชาการเกษตรยืนยันทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์กลางเดือน ธ.ค.แน่นอน

      วันที่ 30 พฤศจิกายน  2565 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจราชการพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยได้มอบนโยบายและแนวทางพัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับตลอด Supply Chain ทุเรียนส่งออกไปจีน การยกระดับมาตรฐานผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ “Premium Thai Fruits” พร้อมกับมอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช GAP พืช  และเยี่ยมชมสวนทุเรียนที่ได้รับการรับรอง GAP และการแปรรูป (ทุเรียนแช่เยือกแข็ง) หลังจากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานตรวจสอบคุณภาพและศัตรูพืชทุเรียนของเจ้าหน้าที่ในโรงคัดบรรจุผลไม้ศิริมงคล คอร์เปอเรท กรุ๊ป ตำบลนาโพธิ์ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร  

.
      นายประยูร  เปิดเผยว่า การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนขณะนี้ไม่ได้มีไทยประเทศเดียวยังมีประเทศเวียดนาม และอาจมีประเทศอื่นๆ ในอนาคต ดังนั้นการทำงานในลักษณะบูรณาการระหว่างเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้ประกอบการส่งออก และหน่วยงานทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันกำหนดทิศทางทุเรียนไทย สร้างความแตกต่าง จุดเด่นที่สำคัญคือมาตรฐานและคุณภาพของทุเรียนไทย ไม่ให้มีทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนด้อยคุณภาพส่งออกไปยังประเทศผู้บริโภคเพื่อรักษาภาพลักษณ์และตลาดการส่งออกให้ยั่งยืน เป็น“ทุเรียนไทยดีที่สุดในโลก (Thai durian is  the best in the world)”
      อีกทั้ง ต้องการให้การส่งออกทุเรียนสดไทย มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มีคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนเป็นภาพลักษณ์โดดเด่น และยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศจีน ดังนั้น ผลผลิตจากสวนของเกษตรกร  โรงรวบรวมและคัดบรรจุ การรับรองสุขอนามัยพืช ตลอดจนการขนส่งและการตรวจสอบย้อนกลับ ควรที่ทุกภาคส่วนต้องทำร่วมกัน โดยภารกิจติดตามมาตรการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออกไปจีนที่ได้มอบให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการนั้น จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทย 
.
       ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรลงพื้นที่จ.ระยอง และจันทบุรีในระว่างวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเร่งรัดติดตามการออกทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้ง 80,000 ฉบับสำหรับภาคตะวันออกในต้นเดือนธันวาคมนี้ และจะครบ 100 % ทั้งประเทศภายในกลางเดือนธันวาคมนี้แน่นอน ขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องไม่ต้องกังวล  พร้อมกันนี้ได้ลงพื้นที่กับนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมนี้
      ทั้งนี้เพื่อควบคุมกำกับดูแลคุณภาพทุเรียนใต้ รวมถึงป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนและทุเรียนสวมสิทธิ์ตามนโยบาย Zero สวมสิทธิ์    โดยการเปลี่ยนแปลง GAP รูปแบบใหม่นั้นจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต  ซึ่งจะเป็นการป้องกันการสวมสิทธิ์ทุเรียนและผลไม้ไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดย GAP รูปแบบใหม่ที่จะใช้ในเดือนมกราคม 2566 จะดำเนินการเสร็จทันแน่นอนทั้งภาคตะวันออกและทั่วประเทศ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบกับทุเรียนในฤดูกาลหน้า  โดยในส่วนของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 (สวพ.7) ดำเนินการได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
.
       อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช (ศวพ.นครศรีธรรมราช) ติดตามทวนสอบประเด็นปัญหาทุเรียนอ่อนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอำเภอท่าศาลา อำเภอนบพิตำ และอำเภอสิชล ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตทุเรียนนอกฤดูเพื่อการส่งออก (ต.ค-ธ.ค) ซึ่งศวพ.นครศรีธรรมราชได้ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ได้แก่ หัวหน้าราชการส่วนจังหวัด อำเภอ ผู้ประกอบการ เกษตรกร มือมีดตัดทุเรียน ตำรวจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในพื้นที่แล้วนั้น พบว่าไม่ได้มีการตัดทุเรียนอ่อนจำหน่ายหรือส่งออกแต่อย่างใด
       ส่วนปัญหาเกิดขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกลงมามากและต่อเนื่องในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนนอกฤดู ทำให้น้ำปะปนในเนื้อทุเรียนมาก ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนบางส่วนที่จำหน่าย เนื้อแฉะ ไส้ซึม เนื้อมีสีเหลืองครีมปนขาว ทุเรียนด้อยคุณภาพ ตลาดไม่ต้องการ แต่ไม่ใช่ทุเรียนอ่อน  ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรับซื้อผลผลิตเกษตรกร เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งค่ามัดจำสัญญา ซึ่งบางส่วนอาจจะเป็นผลผลิตด้อยคุณภาพปะปนไป แต่ผู้ประกอบการบางส่วนยอมทิ้งค่ามัดจำสัญญาเพราะผลผลิตไม่มีคุณภาพเนื่องจากเนื้อแฉะจากการได้รับน้ำมากเกินไประหว่างติดผลผลิตบนต้นก่อนการเก็บเกี่ยว 
.
     “ทุเรียนไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยมีลักษณะทรงผลค่อนข้างยาว ปลายผลแหลม หนามแหลมสูง  ฐานหนามเป็นเหลี่ยม  ก้านผลใหญ่แข็งแรง  เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด  เนื้อค่อนข้างแห้งไม่แฉะติดมือ  รสชาติหวานมัน ส่วนใหญ่เมล็ดลีบ ซึ่งไม่มีทุเรียนประเทศใดมีลักษณะเฉพาะตัวเช่นนี้  ทุเรียนไทยจึงได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน  ดังนั้นจึงขอความร่วมมือเกษตรกร  ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยไม่ส่งทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพออกไปเด็ดขาด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว