55 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร  ปรับองค์กรเป็น Digital DOAE เป้าปี 66 ขับเคลื่อนสู่ “Keep Going, Keep Growing” ก้าวต่อไป เติบโตอย่างต่อเนื่อง

  •  
  •  
  •  
  •  

วิสัยทัศน์ 55 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร  ปรับองค์กรเป็น Digital DOAE เน้น 2 แนวทาง “การขับเคลื่อนองค์กร-ระบบการทำงาน” มุ่งขับเคลื่อน BCG สู่ความยั่งยืนของภาคเกษตร เป้าปี 2566 ขับเคลื่อนสู่ “Keep Going, Keep Growing” ก้าวต่อไป เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปี 2565 : พัฒนาองค์กรสู่การเป็น Digital DOAE และปรับวิธีการทำงานเข้าสู่ New Normal
​การขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ในปีงบประมาณ พ.ศ 2565 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรโดย นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กรสู่การเป็น Digital DOAE และปรับระบบการทำงานเข้าสู่ New Normal รวมทั้งการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “Next Step” ขับเคลื่อนองค์กรวิถีใหม่…ก้าวต่อไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ทั้งนี้มีการดำเนินงาน 2 แนวทาง ได้แก่ การขับเคลื่อนองค์กรและระบบการทำงาน มุ่งพัฒนากรมส่งเสริมการเกษตรสู่การเป็น Digital DOAE และการดำเนินงานภารกิจสำคัญ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภารกิจที่ท้าทายการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังคงดำเนินอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและทั่วโลก

สำหรับ ปี 2566 : “Keep Going, Keep Growing” ก้าวต่อไป เติบโตอย่างต่อเนื่อง ​ก้าวต่อไปในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นายเข้มแข็ง  ยังคงยึดมั่นแนวทางการทำงานสำคัญ ๆ ในปีที่ผ่านมาเพื่อขับเคลื่อนการทำงานขององค์กร พร้อมทั้งมุ่งเน้นพัฒนาดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม ทั้งในส่วนที่ได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการเกษตรและแหล่งงบประมาณอื่น ๆ ให้ตอบเป้าหมาย/ตัวชี้วัด และเกิดผลสัมฤทธิ์ตามกรอบทิศทางของแผนปฏิบัติราชการกรมส่งเสริมการเกษตร เชื่อมโยงกับแผนระดับกระทรวงและระดับชาติ

โดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการขับเคลื่อน BCG Model ให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานปกติประจำ สร้างการรับรู้แก่บุคลากรทุกระดับให้มีความเข้าใจและร่วมกันขับเคลื่อน รวมทั้งบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ตามแนวคิด “Keep Going, Keep Growing” ก้าวต่อไป เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปรับองค์กรเป็น Digital DOAE มุ่งขับเคลื่อน BCG สู่ความยั่งยืนของภาคเกษตร ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 9 แนวทางหลัก ดังนี้

​1) ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงในการประกอบอาชีพการเกษตรให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร และเกษตรกรรมยั่งยืน ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช

​2) มุ่งพัฒนากรมส่งเสริมการเกษตรสู่การเป็น Digital DOAE ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานภายในองค์กรให้เป็นดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานส่งเสริมการเกษตร และการให้บริการแก่เกษตรกรที่สะดวกรวดเร็ว และเข้าถึงเกษตรกรได้ทั่วถึงมากขึ้น พัฒนาระบบฐานข้อมูล (Big Data) และพัฒนาระบบบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในการส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในองค์กร

​3) พัฒนาเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่และเกษตรมูลค่าสูงด้วย BCG Model เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และใช้ BCG Model ในการพัฒนาสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า พัฒนายกระดับแปลงใหญ่ให้มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต ผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอด Value Chain และเชื่อมโยงตลาดทั้ง Online และ Offline

เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน และมีมูลค่าสูงขึ้น โดยเฉพาะมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสาน กับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้า ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่และเกษตรอัจฉริยะ

มีการพัฒนาเกษตรกรให้มีความรู้ สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเพื่อยกระดับการผลิต ส่งเสริมการใช้พืชพันธุ์ดีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยใช้ศักยภาพของศูนย์ปฏิบัติการให้เป็นแหล่งผลิตและกระจายพืชพันธุ์ดีสู่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางการจาหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชน และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

​4) ขยายผลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ สรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ถอดองค์ความรู้ จากต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และขยายผลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกอำเภอ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่ จัดให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

​5) สร้างผู้ประกอบการเกษตรสมัยใหม่ โดยพัฒนา Young Smart Farmer และ Smart Farmer ให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรสมัยใหม่ พัฒนากลุ่ม/องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนให้เป็นผู้ประกอบการเกษตร และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และสถาบันการเงินในการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนภาคเกษตรของไทยสู่เกษตรสมัยใหม่

​6) ส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร พัฒนาเกษตรกรให้สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางตลาดออนไลน์ได้มากขึ้น ตลอดจนพัฒนาตลาดเกษตรกรให้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ พัฒนาช่องทางการตลาดอื่น ๆ

​7) สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ พัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ให้สามารถปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ และสนับสนุนการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรและภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย และพัฒนาศักยภาพศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) สร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย เชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์ AIC แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน เครือข่ายแปลงใหญ่ Young Smart Farmer เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่

​8) พัฒนารูปแบบการส่งเสริมการเกษตรในเมือง ส่งเสริมการทำการเกษตรแก่คนในเมืองให้มีความรู้และทักษะด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และสร้างรายได้ พัฒนารูปแบบการส่งเสริมการเกษตรในเมือง การจัดการและการออกแบบฟาร์ม (Farm Design & Management) การทำสวนแนวตั้ง (Vertical Farming) และการจัดการพื้นที่เพื่อทำการเกษตรให้สอดคล้อง กับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของคนในเมือง โดยใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG Model และสนับสนุนการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

​9) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานส่งเสริมการเกษตร ถ่ายทอดเป้าหมายและตัวชี้วัดระดับกรมสู่ผู้บริหารทุกระดับ วางระบบการจัดเก็บข้อมูล และการรายงานผลการดำเนินงาน ผลักดันการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ขับเคลื่อนองค์กรสู่ระบบราชการ 4.0 ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการคุณภาพภาครัฐ เพื่อให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นองค์กรที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน มีขีดสมรรถนะสูง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยึดหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

พัฒนาศักยภาพบุคลากรทุกระดับ ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง และสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพิ่มประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่การดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตรผ่านสื่อและช่องทางต่าง ๆ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น ทั้งเกษตรกร บุคลากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชน

​การขับเคลื่อนการทำงานของกรมส่งเสริมการเกษตรจะสำเร็จลุล่วงได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการปฏิบัติงาน และกรมส่งเสริมการเกษตรหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อปรับเปลี่ยนองค์กรเป็น Digital DOAE และมุ่งขับเคลื่อน BCG ดังกล่าวนี้ จะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีรายได้เพิ่มขึ้น นำพาความยั่งยืนสู่ภาคเกษตรของประเทศต่อไป