กรมวิชาการเกษตรลุยพื้นที่สวนทุเรียนชุมพร ย้ำต้องรักษาคุณภาพสู้คู่แข่งในตลาดจีนที่ราคาถูกกว่า

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร เข้มงวดรักษาคุณภาพทุเรียนจากสวน GAP ล่าสุดส่งรองอธิบดี นำคณะลุย ตรวจติดตามมาตรการรับรองสุขอนามัยพืชทุเรียนสดส่งออกประเทศจีนในพื้นที่จังหวัดชุมพร เผยตลาดทุเรียนในแดนมังกรเปลี่ยนแล้ว เวียดนามจะกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญหลังจากจีนอนุญาตให้นำเข้าเป็นประเทศที่สอง  ย้ำทุกภาคส่วนต้องบูรณากาเพื่อหาจุดเด่นและความแตกต่างจาก ประเทศคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า เน้นการผลิตที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน จัดการปัญหาทุเรียนอ่อน

         ตามที่ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ติดตามมาตรการตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยพืช สำหรับทุเรียนเพื่อการส่งออกไปประเทศจีน ตามนโยบายการส่งออกทุเรียนสดคุณภาพมาตรฐานไปประเทศจีน ตั้งแต่การดูแลสวนทุเรียน การตัดทุเรียนคุณภาพจากสวน GAP การคัดทุเรียนสด มีคุณภาพที่โรงคัดบรรจุ และการตรวจสอบเพื่อรับรองสุขอนามัยพืชนั้น
.
       ล่าสุดนายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ดูแลผักผลไม้ก่อนที่จะส่งออกเข้าประเทศจีน เพื่อตรวจติดตามการตรวจรับรอง GAP และมาตรการ การออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนสดของไทยที่ส่งออกตามพิธีสารที่ประเทศไทยได้ทำร่วมกับประเทศจีนไว้


         ดร.ภัสชญภณ กล่าวว่า ตลาดจีนได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพของทุเรียนสดที่มีคุณภาพ และมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเวียดนามเป็นประเทศที่สองที่สามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้ ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะรักษาตลาดทุเรียนสดในจีนนั้น ต้องเน้นการส่งออกทุเรียนที่มีคุณภาพ มาตรฐานความเป็นทุเรียนไทย และการปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยพืชตามข้อตกลงในพิธีสารการส่งออกผลไม้สดไปจีน

       ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของกรมวิชาการเกษตรให้ได้ทุเรียนสดที่มีคุณภาพมาตรฐาน GAP ที่ได้รับการรับรองสุขอนามัยพืช และกรมวิชาการเกษตรได้ ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร จัดโครงการ GAP เคลื่อนที่เพื่อเป็นการช่วยให้คำแนะนำ ให้ความรู้เรื่องการตัดทุเรียน การทำเกษตรแบบ GAP ซึ่งมีเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการสนับสนุนคุณภาพของผัก ผลไม้ไทย ให้มีผลผลิตดี ไม่มีสารตกค้าง มีคุณภาพ ปลอดจากศัตรูพืชอีกด้วย


.
         สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้ตรวจ ติดตาม ให้คำแนะนำ ล็อคซีล ก่อนการส่งออกต่างประเทศในพื้นที่จังหวัดชุมพร 3 แห่ง คือ แปลง นายโกเมศ เยาวละออง   บริษัท เอ็กซ์วาย เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด และโรงคัดบรรจุทุเรียน เฮียไก่ อำเภอหลังสวน  โดยพื้นที่ในจังหวัดชุมพร มีแปลงที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP แล้ว 14,674 แปลง รวมเป็นพื้นที่ 106,573.9 ไร่ ผลผลิตทั้งปีกว่า 400,000 ตัน โดยตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2565 ถึง มกราคม 2566  คาดว่า จะมีผลผลิตทุเรียนคุณภาพ มาตรฐานส่งตลาดจีนได้ ประมาณ 10,000 ตัน
.
        ส่วนเป้าหมายสำคัญในการตรวจติดตามการคัดบรรจุทุเรียน กรมวิชาการเกษตรต้องการเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ตระหนักถึงการปฏิบัติตามเงื่อนไขการคัดบรรจุทุเรียนสดที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อการส่งออกไปสู่ตลาดในประเทศจีน และสำหรับการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน รับรองสุขอนามัย รับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนสดที่โรงคัดบรรจุนั้น เป็นงานบริการที่สนับสนุนผู้ประกอบการส่งออก ในการตรวจสอบ โรค แมลง และศัตรูพืช ตามเงื่อนไขการนำเข้าที่กำหนดโดยจีน  โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะสุ่มตรวจโดยทั่วถึง ตามมาตรการที่ได้ตกลงกับ GACC ก่อนที่จะมีการปิดตู้ ล็อคซีล และออกใบรับรองสุขอนามัยพืชแต่ละชิปเมนท์
.
     รองอธฺบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาดทุเรียนในจีนจะมีประเทศผู้ส่งออกทุเรียนสดแข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่การผูกขาดทุเรียนของไทยประเทศเดียวดังเช่นในอดีต  ดังนั้นการทำงานในลักษณะบูรณาการ ระหว่าง เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สมาคม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชุมพร  ผู้ประกอบการส่งออก โรงคัดบรรจุ สมาคมหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกันกำหนดทิศทางทุเรียนไทยในจีน

     ทั้งนี้เพื่อหาจุดเด่นและความแตกต่างจาก ประเทศคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า เน้นการผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน จัดการปัญหาทุเรียนอ่อนและยกระดับคุณภาพของทุเรียน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมีความมั่นใจ ในการเลือกซื้อทุเรียนไทย รวมถึง การปฏิบัติตามพิธีสารการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนอย่างเคร่งครัด