เปิดตัวผู้หญิงคนเก่งแห่งสวนปันบุญ “สุจารี ธนสิริธนากร” คืนถิ่นสู่เกษตรอินทรีย์

  •  
  •  
  •  
  •  
เปิดตัวผู้หญิงคนเก่ง “สุจารี ธนสิริธนากร” แห่ง “สวนปันบุญ”  อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ อำลาเมืองกรุงคืนถิ่น จากเริ่มต้นกลับมาดูแลบุพการีที่เริ่มแก่ชรา เริ่มยึดอาชีพแม้ค้าจึงค้นพบวิถีชีวิตคนในท้องทุ่งแบบเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อาชีพเกษตรใช้สารเคมีเป็นสรณะ ตัดสินใจผันตัวเป็นเกษตรกรปลูกพืชผักอินทรีย์ วันี้คคว้ารางวัลเกษตรกร GAP และเกษตรอินทรีย์ ดีเด่น ประจำปี 2565 จากกรมวิชาการเกษตร

       นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปี 2565 ในโอกาสที่กรมวิชาการเกษตรมีอายุครบ 50 ปี มีการพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นที่ผลิตพืชตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ยึดถือแนวทางการปฏิบัติงานเป็นแบบอย่าง เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในส่วนของเกษตรกรที่ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาเกษตรอินทรีย์ คือ นางสุจารี ธนสิริธนากร  แห่ง “สวนปันบุญ” บ้านดอนแคน ต.ฆ้องชัยพัฒนา อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเดิมทำงานบริษัทในกรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง 17 ปี และในปี 2550 ได้ย้ายกลับบ้านเกิดเพื่อดูแลพ่อแม่ โดยในช่วงแรกประกอบอาชีพค้าขาย พบว่าวิถีชีวิตแบบเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปและได้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพของคนในชุมชน มีโอกาสได้ร่วมงานวิจัยด้านชุมชนหน่วยงาน กศน.อำเภอฆ้องชัย พบว่า คนในชุมชนร้อยละ 80 ประกอบอาชีพทำนา มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก

       ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้นางสุจารี ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและชุมชน จึงชักชวนผู้สนใจที่มีความเชื่อมั่นว่าการผลิตพืชในระบบเกษตรอินทรีย์คือทางแก้ปัญหานี้ จึงได้จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ขึ้นในปี 2552 โดยมีสมาชิกจำนวน 12 คน เริ่มต้นเรียนรู้จากการทำนาอินทรีย์ ซึ่งนางสุจารี ได้พาแกนนำกลุ่มไปศึกษาเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ แล้วนำมาลองปฏิบัติในพื้นที่นาของตนเองจนเกิดความรู้ ความเข้าใจและมั่นใจแล้วจึงขยายผลสู่สมาชิกรายอื่น ๆ และเริ่มผลิตพืชผักอินทรีย์อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยใช้พื้นที่ส่วนตัว จำนวน 5 ไร่ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตพืชผักอินทรีย์ร่วมกันของสมาชิกที่สนใจ

ต่อมาเมื่อพบปัญหาในการผลิตจะศึกษาเรียนรู้จากเอกสารตำราหรือการเข้ารับการอบรมจากหน่วยงานราชการหรือแหล่งอื่นๆ เมื่อสมาชิกหลายคนบ่นว่าทำยากและเริ่มท้อ ก็ต้องหาองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหา พัฒนากระบวนการผลิต เรียนรู้การผลิตพืชชนิดใหม่ เรียนรู้ด้านการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต ศึกษาด้านการตลาดเพิ่มเติม ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “การทำเกษตรอินทรีย์ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากต้องใส่ใจดูแล ช่างสังเกต รู้ลึก รู้จริงในสิ่งที่ทำ ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การทำผลิตผลอินทรีย์ไม่มีสารพิษให้คนกิน ก็ถือเป็นการทำบุญเช่นกัน”

      นี่คือที่มาของชื่อ “สวนปันบุญ” และในปี 2555 ได้จดทะเบียนเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปันบุญ” และ “ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีปันบุญ”และได้รับการคัดเลือกจากกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็น “หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์” (Organic Village)   บนพื้นที่ปลูกทั้งหมด 6 ไร่ 2 งาน เป็นพื้นที่ราบมีการปลูกพืชผักในโรงเรือนจำนวน 5 โรงเรือนและปลูกลงดิน ใช้ระบบการให้น้ำแบบสเปรย์หมอกด้วยระบบอัจฉริยะควบคุมผ่านมือถือ เพื่อลดต้นทุนค่าแรงงาน เวลา และประหยัดน้ำ

      ที่สำคัญทำให้ผักเจริญเติบโตได้ดี ให้ความสำคัญกับการควบคุมศัตรูพืชตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูก มีการใช้สารชีวภัณฑ์เข้าช่วย เช่น ไตรโคเดอร์มา บิวเวอร์เรียเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงและน้ำหมักสมุนไพร ร่วมกับการจัดการแบบผสมผสานอื่น ๆ เช่น การใช้กับดักกาวเหนียว มีการใช้เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ผักซึ่งดัดแปลงจากเครื่องดูดฝุ่นเก่า ลดระยะเวลาการเพาะกล้าสามารถทำได้ถึง 80-100 ถาด/ชั่วโมง ใช้เครื่องสลัดน้ำออกจากผักโดยดัดแปลงจากเครื่องซักผ้า เพื่อปั่น เหวี่ยงเอาน้ำออกจากผักสลัดให้ได้มากที่สุด

      นอกจากนี้มีการนำเครื่องมือไถซิ่ง มาใช้ในการเตรียมแปลงทำให้ลดระยะเวลาและแรงงานในการเตรียมแปลงได้ดีมาก รวมถึงมีการนำแมลงศัตรูธรรมชาติและแมลงที่มีประโยชน์ ได้แก่ แมลงหางหนีบ มวนพิฆาต ผึ้ง ชันโรง มาปล่อยเพิ่มในแปลง

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรดีเด่นประจำปี 2565 ทั้ง 2 รายนี้นับเป็นความภาคภูมิใจของกรมวิชาการเกษตร เพราะเป็นเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นและรักในอาชีพเกษตรกรอย่างแท้จริง มีความคิดริเริ่ม อดทน ขยันหมั่นเพียร พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ ทำการเกษตรโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพจนได้รับการยอมรับทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งสามารถที่จะเป็นผู้นำและแบบอย่างให้เกษตรกรรายอื่นได้ปฏิบัติตามต่อไป