กรมวิชาการเกษตรจับมือพันธมิตร ขนเทคโนโลยีจัดการสวนทุเรียนแบบเกษตรอัจฉริยะครบวงจรสอนชาวสวน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร จับมือ พันธมิตร จัดทัพใหญ่เทคโนโลยีจัดการสวนทุเรียน ติวเข้มชาวสวนทุเรียนตามรูปแบบเกษตรอัจฉริยะครบวงจร ชี้ Smart Agriculture เป็นเทรนการทำการเกษตรที่สำคัญของโลกปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาของภาคการเกษตรทั้งการขลาดแคลนแรงงาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น

วันที่ 19 กันยายน 2565 สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โดย จับมือพันธมิตรทางวิชาการ ประกอบด้วย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย สมาคมทุเรียนไทย และ บริษัท โคโมมิ จำกัด จัดการฝึกอบรม หลักสูตร “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสวนทุเรียน” ให้กับชาวสวนทุเรียน ณ แปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะทุเรียน ของโครงการประยุกต์ใช้ smart sensors และ IoTs ในการผลิตทุเรียน ตำบลแก่งหางแมว อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ได้เลือกนำไปปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภายในสวนและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของทุเรียนไทย

ดร.พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท ผู้อำนวยการกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กล่าวว่า เกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) เป็นเทรนการทำการเกษตรของโลกในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาของภาคการเกษตร เช่น การขลาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งต้องมีการบูรณาการองค์ความรู้หลักด้านการผลิตพืช ด้านไอที และด้านวิศวกรรม โดยหัวใจสำคัญสุดของการทำการเกษตรอัจฉริยะ คือ การนำข้อมูลภายในแปลงและภายนอกแปลงปลูก มาวางแผนบริหารจัดการการผลิตอย่างถูกต้อง เป็นระบบ และทันท่วงที

ฉะนั้นกรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานวิจัยด้านพืชของประเทศไทย พยายามปรับรูปแบบการทำการวิจัย ด้วยการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เช่น เซนเซอร์ทางการเกษตรต่างๆ เทคโนโลยีด้านภาพถ่ายสุขภาพพืช และเทคโนโลยีดิจิทัล มาบูรณาการการตรวจวัด จัดเก็บข้อมูล ประมวลผล และนำค่าที่ได้ไปใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบหรือเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Transformation จากภาคการเกษตร และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการทวนสอบกับวิธีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความถูกต้องตามหลักวิชาการ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรนการเกษตร) มาเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเกษตรกร และรองรับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ในยุค disruptive technology ด้านการเกษตร

สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมฯ บรรยายและแลกเปลี่ยนกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ถึงความต้องการและอุปสรรคของการเข้าถึงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะสำหรับการผลิตทุเรียน ตลอดจนศึกษาดูงานการประยุกต์ใช้ smart sensors และ IoTs ในการผลิตทุเรียน ภายในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะทุเรียน ที่ดำเนินงานตามแนวทางเกษตรอัจฉริยะการผลิตพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายกมล จันทมงคล เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน ร่วมดำเนินการเพื่อถอดบนเรียนจากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สู่ดิจิทัลเทคโนโลยีให้เกษตรกรสามารถเลือกไปปรับใช้ให้เหมาะกับสวนของตน

ทั้งนี้ได้มีนวัตกรรมเพื่อเกษตรกร ได้แก่ 1. เทคโนโลยีด้านดิน 2. เทคโนโลยีด้านพืชและอารักขาพืช 3. เครื่องจักรกลเกษตร 4. การให้น้ำ 5. เทคโนโลยีดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ 6. อินเตอร์เน็ตสรรพสิ่ง (loTs) 7. Big Data Platform และ 8. ระบบช่วยตัดสินใจ (Decision Support System) ระบบการตรวจวัดและควบคุมการให้น้ำตามความต้องการของทุเรียน ระบบการตรวจวัดและควบคุมการให้น้ำตามความต้องการของทุเรียน ผ่านการสั่งงานจาก Smart Phone ทั้งแบบควบคุมโดยเกษตรกรและแบบอัตโนมัติ ผ่านระบบ IoTs ที่จะไปควบคุมการเปิด-ปิดการทำงานของปั๊มน้ำและประตูน้ำภายในสวนทุเรียน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร มีการทำงานด้วยความแม่นยำ พร้อมกับการเก็บข้อมูลการใช้น้ำ สำหรับนำไปวางแผนการผลิต ให้เหมาะสมกับช่วยงระยะการเจริญเติบโตและสภาพแวดล้อมต่อไป

                         ระบบการตรวจวัดและควบคุมการให้น้ำตามความต้องการของทุเรียน

Dashboard การผลิตทุเรียน เป็นการแสดงผลสถานะการผลิตด้านต่างๆ ภายในแปลงปลูกทุเรียนของเกษตรกรรายแปลง อาทิ สถานะของอุปกรณ์ตรวจวัด/ควบคุมต่างๆ ภายในแปลง เช่น สถานีตรวจสภาพอากาศ เซนเซอร์ทางการเกษตร พร้อมทั้งแสดงผลคำแนะนำต่างๆ ในการผลิตทุเรียน เช่น การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การให้น้ำ การจัดการปุ๋ย ตามระยะการเจริญเติบโตของต้นทุเรียน อีกทั้งยังมีระบบบันทึกกิจกรรมภายในแปลงของเกษตรกร เพื่อนำไปสนับสนุนต่อยอดการจัดเตรียมข้อมูลขอใบรับรอง GAP ของเกษตรกรในอนาคต และยังสามารถพัฒนาให้เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มของตลาดผู้ซื้อ ให้สามารถเห็นขั้นตอนกระบวนการในการผลิตแบบ Real time เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

แอปพลิเคชัน ข้อมูลการพยากรณ์การตกของฝนในแปลง (RainReport)

แอปพลิเคชัน RainReport น้ำฝนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิตทางการเกษตร ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ตลอดจนการบริหารจัดการแปลง เช่น การเตรียมพื้นที่ปลูก การดูแลรักษา การใส่ปุ๋ย การพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น การพยากรณ์การตกของฝนที่แม่นยำในระยะสั้น จะช่วยวางแผนการจัดการแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาแอปพลิเคชัน “ข้อมูลพยากรณ์การตกของฝนในแปลง หรือ RainReport” โดยการเชื่อมโยงข้อมูลการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา แล้วแสดงผลในรูปแบบโมบายแอปพลิเคชัน ตามพิกัดของแปลงที่กำหนด เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการจัดการแปลงให้กับเกษตรกรอย่างแม่นยำ

                                   การทดสอบการกระจายตัวของละอองสารในทรงพุ่มทุเรียน

การใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ปัจจุบันโดรนเกษตรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและปิดข้อจำกัดของอุปกรณ์การฉีดพ่นสารแบบเก่า เช่น การฉีดพ่นสารในที่สูงอย่างทุเรียน ซึ่งมีเกษตรกรเริ่มนำโดรนการเกษตรมาใช้เพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องวิจัยพัฒนาเพื่อให้ได้คำแนะนำเทคนิคการฉีดพ่น การผสมสาร และที่สำคัญคือประสิทธิภาพของการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ในการฝึกอบรมครั้งนี้มีการสาธิตการฉีดพ่นด้วยโดรนเกษตร จากกลุ่มงานการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช กรมวิชาการเกษตร บริษัท เอทีไอ เทคโนโลยีส์ จำกัด และบริษัท SATI PLATFORM จำกัด เพื่อดูการกระจายของละอองสารภายในทรงพุ่มทุเรียนอายุ 10 ปี ความสูง 7 เมตร ที่ผ่านการตัดแต่งทรงพุมให้โปร่งมาแล้ว 3 เดือน พบว่า ละอองสารสามารถกระจายเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้ทั่วถึงเป็นที่น่าพอใจ นอกจากเทคนิคด้านต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประสิทธิภาพของโดรนเกษตรก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งเกษตรกรต้องพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่จะใช้ในการฉีดพ่น

ด้าน นางนงนุช ยกย่องสกุล รักษาการผู้อำนวยการสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA) กล่าวเพิ่มว่า สิ่งที่ทางสมาคมฯ ให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องของเทคนิคการฉีดพ่นสาร คือ ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของเกษตรกรผู้ฉีดพ่นและการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดพ่นสาร เนื่องจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ฉีดพ่น จะมีความเข้มข้นที่สูงเพราะโดรนเป็นระบบการฉีดพ่นแบบใช้น้ำน้อย ดังนั้น ผู้ฉีดพ่นต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก ถุงมือ และแว่นป้องกัน เป็นต้น อีกทั้งขณะฉีดพ่นสารความเร็วลมต้องไม่เกิน 3 เมตร/วินาที เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองสารไปกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง

การที่เกษตรจะเลือกนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะไปใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีความจำเป็นต้องมีความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า แหล่งน้ำ สัญญาณอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ทั้งนี้ต้องพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับความจำเป็นในการใช้งานภายในแปลงปลูก เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน สำหรับการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะในทุเรียนให้เกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิจัย ผู้ประกอบการ รวมถึงพี่น้องเกษตรกร

หากท่านมีความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ สำหรับการผลิตทุเรียน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายสิริชัย สาธุวิจารณ์ หัวหน้าโครงการประยุกต์ใช้ smart sensors และ IoTs ในการผลิตทุเรียน กลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 09 2919 2454 มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยต่อไป