มาแล้ว!! 4 พันธุ์ข้าวน้องใหม่ กรมการข้าวรับรองหมาดๆในวันนี้ (22 ส.ค.65) ล้วนแต่ให้ผลผลิตสูง

  •  
  •  
  •  
  •  

คณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ มีมติให้กรมการข้าว ประกาศรับรอง 4 พันธุ์ข้าวน้องใหม่ “กข93- กข95- กข97 – กข101” ล้วนแต่ให้ผลผลิตสูงบางสายพันธุ์กว่า 1,000 กก.ต่อไร่ แต่ส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดและอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดทั้งสีน้ำตาล และหลังขาว คาดว่าบางสายพันธุ์จะสามารถจำหน่ายให้เกษตรกรได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี ผู้บริหาร ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการพิจารณารับรองพันธุ์ ณ ห้องประชุมรวงข้าว ชั้น 2 อาคารกรมการข้าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณารับรองพันธุ์ข้าวมีมติรับรองข้าวพันธุ์ใหม่4 พันธุ์ได้แก่ กข93 กข95 กข97 และ กข101

โดยพันธุ์ข้าว กข93 (พุ่มพวงเมืองสองแคว) เป็นผลงานการพัฒนาจากศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก เป็นข้าวขาวอมิโลสปานกลาง  มีลักษณะประจำพันธุ์ คือเป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง มีลักษณะเด่น คือ อายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 767 กก./ไร่ (มีศักยภาพการให้ผลผลิต 934 กก./ไร่) ความสูง 131 ซม. ปริมาณอมิโลสปานกลาง 22.82 % ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก ต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้ม ต้านทานต่อโรคไหม้และค่อนข้างต้านทานโรคขอบใบแห้ง เหมาะสำหรับนาน้ำฝนในเขตภาคเหนือตอนล่าง และเกษตรกรที่ต้องปลข้าวอายุปานกลาง แต่มีข้อจำกัดคืออ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว

ส่วนพันธุ์ข้าว กข95 (ดกเจ้าพระยา) เป็นผลงานการพัฒนาจากศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท เป็นข้าวขาวพื้นแข็ง มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ เป็นข้าวเจ้านุ่มไม่ไวต่อช่วงแสง ความสูง 110 ซม. คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย มีปริมาณอมิโลสสูงร้อยละ 29.78 อายุการเก็บเกี่ยว 95 – 100 วัน  มีลักษณะเด่น คือ ผลผลิตสูงเฉลี่ย 885 กก./ไร่ (มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 1,213 กก./ไร่) ต้านทานต่อโรคไหม้และค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เหมาะสำหรับนาชลประทานถาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง แต่มีข้อจำกัดคือ อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

สำหรับพันธุ์ กช97 (หอมรังสิต) เป็นผลงานการพัฒนาจากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เป็นข้าวหอมไทย มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ อายุการเก็บเกี่ยว 111-114 วัน (ปักดำ) 106 วัน (หว่านน้ำตม) ผลผลิตสูงเฉลี่ย 767 กก./ไร่ (ศักยภาพการให้ผลผลิตสูงถึง 934 กก./ไร่) ความสูง 107 ซม. ปริมาณอมิโลสต่ำร้อยละ 15.25 เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง

มีลักษณะเด่น คือ เป็นข้าวอมิโลสต่ำ ข้าวสุกนุ่มค่อนข้างเหนียว มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ผลผลิตสูง 737 กก./ไร่ ศักยภาพการให้ผลผลิต 976 กก./ไร่ ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก เป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ สำหรับพื้นที่แนะนำควรปลูกพื้นที่นาชลประทาน ข้อจำกัดคืออ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ขณะที่พันธุ์สุดท้ายคือ  กข101 (ทุ่งหลวงรังสิต) เป็นผลงานการพัฒนาจากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุการเก็บเกี่ยว 118 วัน (ปักดำ) ผลผลิตสูงเฉลี่ย 779 กก./ไร่ (มีศักยภาพการให้ผลผลิต 1,070 กก./ไร่) ความสูง 117 ซม. ปริมาณอมิโลสปานกลางร้อยละ 21.67 ข้าวสุกค่อนข้าวนุ่ม ไม่เหนียว ไม่ร่วน และไม่มีกลิ่นหอม มีลักษณะเด่น คือ ต้านทานต่อโรคไหม้ พื้นที่แนะนำควรปลูกในพื้นที่นาชลประทาน ข้อจำกัดคืออ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว

ทั้งนี้พันธุ์ข้าวกข 95 คาดว่าจะสามารถจำหน่ายให้เกษตรกรตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป จำนวน 300 ตัน และจะมีการขยายในการปลูกทั่วประเทศตั้งแต่เดือนเมษายนปีหน้า ส่วนในอนาคตกรมการข้าวมีแนวทางในการที่จะส่งเสริมผลิตข้าวคุณภาพให้ได้มากที่สุด โดยกรมการข้าวจะมีการประสานงานไปยังกองทุนหมู่บ้านเพื่อที่จะเป็นพื้นที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกiทั่วประเทศ

อย่างไรก็ ที่ผ่านมาภาพรวมของเกษตรกรจะต้องไปซื้อที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ทำให้ยากต่อการกระจายเมล็ดพันธุ์คุณภาพสู่มือเกษตรกร อนาคตอีก 3-4 ปี จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวคุณภาพ โดยภายในสิ้นปีนี้กรมการข้าวจะประกาศรับรองพันธุ์เพิ่มอีกเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดีต่อไป