เปิดแล้วงาน “Eastern Monthong Best Quality เปิดฤดูกาลหมอนทอง ดีเลิศที่คุณภาพ ดีเยี่ยมเพื่อส่งออก” รมว.เกษตรฯ สั่งเดินหน้าแก้ทุเรียนอ่อนภาคตะวันออก ปี 65 ทั้งผลอ่อน และเข้มมาตรการ Zero Covid ประกาศยืนหนึ่งทุเรียนไทยมีคุณภาพดีที่สุดในโลก
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานประชาสัมพันธ์ “Eastern Monthong Best Quality เปิดฤดูกาลทุเรียนหมอนทองตะวันออก ดีเลิศที่คุณภาพ ดีเยี่ยมเพื่อส่งออก” ณ สวนทุเรียนน้ำกร่อย อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี ว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยเราประสบปัญหาภาวการณ์แข่งขันที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงการควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพ และปัญหาผลไม้ราคาตกต่ำในช่วงผลผลิตกระจุกตัว ดังนั้น แนวทางที่จะพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียน จึงต้องพัฒนาทั้งระบบด้วยความร่วมมือของทุกฝ่ายบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งเกษตรกร ล้ง ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เน้นการผลิตที่สอดคล้องกับตลาดโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต สร้างและขยายตลาดโดยเฉพาะตลาดภายในประเทศให้มากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ คือการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลานี้เป็นฤดูกาลผลผลไม้ของภาคตะวันออกซึ่งจะมีผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งขณะนี้มีความเป็นห่วงในเรื่องของ COVID – 19 และปัญหาทุเรียนอ่อน จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID – 19 ตั้งแต่ระดับสวนเกษตรกร และมาตรการควบคุมป้องกันแก้ไขทุเรียนอ่อนภาคตะวันออกปี 2565 ระดับสวนเกษตรกร เพื่อใช้เป็นมาตรฐานให้ทุกสวนผลไม้ส่งออกได้ยึดถือปฏิบัติ
นอกจากนี้เป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป้าหมายให้ทุเรียนไทยมีคุณภาพดีที่สุดในโลก และมีมาตรฐานความปลอดภัย โดยมีหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมเป็นพี่เลี้ยง และพร้อมแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ดร.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า การจัดงานครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเน้นย้ำความมีคุณภาพของทุเรียนตะวันออกที่เป็นสินค้าเกษตรให้เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ขอยืนยันว่าหากทุเรียนไทยเรายังรักษาคุณภาพไว้ได้ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการส่งออกอย่างแน่นอน จึงต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายช่วยกันรักษาคุณภาพทุเรียนไทย และไม่ให้มีการตัดทุเรียนอ่อนอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ เตรียมจะขยายช่องทางส่งทางรางรถไฟขนส่งไปจีน คาดว่า 1-2 เดือน จะแล้วเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกได้มากขึ้น
โอกาสนี้ รมว.เกษตรฯ ได้ร่วมขึ้น sky walk เพื่อตัดทุเรียนพร้อมจำหน่าย ร่วมกับอธิบดีกรมส่งเสริมเกษตร นายธีรพัฒน์ อุ่นใจ ที่ปรึกษาสมาพันธุ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออกและเกษตรกรดีเด่น พร้อมกับแกะทุเรียนเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ประชาสัมพันธ์งาน “Eastern Monthong Best Quality เปิดฤดูกาลทุเรียนหมอนทองตะวันออก ดีเลิศที่คุณภาพ ดีเยี่ยมเพื่อส่งออก”
ทั้งนี้ จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูกทุเรียน ประมาณ 320,000 ไร่ และมีปริมาณผลผลิตทุเรียนประมาณ 490,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 ของ 3 จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตทุเรียนภาคตะวันออก และยังมีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทดแทนพืชชนิดอื่น เช่น ยางพารา เงาะ ลองกอง เป็นต้น
สำหรับแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ อำเภอท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ และขลุง เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีทั้งเกษตรกรรายเดิม เกษตรกรรายใหม่ และมีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทเกษตรกรชาวสวนเดิมเข้ามาเริ่มทำการเกษตรมากขึ้น มีการปฏิบัติดูแลรักษาเอาใจใส่เป็นอย่างมาก ตลอดจนมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการสวนเพิ่มขึ้น ทำให้ผลตอบแทนต่อไร่สูงขึ้นตลอดระยะเวลา 5 – 6 ปีที่ผ่านมา
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกปี 2565 ที่เน้นให้การส่งออกผลไม้ต้อง Zero Covid และต้องไม่มีปัญหาทุเรียนอ่อน เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่เป็นตลาดส่งออกหลัก
ในฤดูกาลผลไม้ปีนี้ จีนในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของผลไม้ของภาคตะวันออกได้กำหนดไว้ว่าต้องตรวจไม่พบเชื้อ COVID -19 ทั้งในคน ผลไม้ และองค์ประกอบอื่นในการขนส่ง เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จัดงาน “Eastern Monthong Best Quality เปิดฤดูกาลหมอนทองภาคตะวันออก ดีเลิศที่คุณภาพ ดีเยี่ยมเพื่อส่งออก” ขึ้นในวันนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ และสร้างความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันทุเรียนอ่อนและมาตรการ Zero Covid ของทั้งเกษตรกรเจ้าของสวน และผู้ประกอบการส่งออกในภาคตะวันออกทุกจังหวัด
ภายในงานมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงานการควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพ ออกสู่ตลาดภาคตะวันออก ปี 2565 การแสดงผลผลิตทุเรียน GI ของภาคตะวันออก จำนวน 6 ประเภท 3 จังหวัดของภาคตะวันออก ได้แก่ทุเรียนหมอนทองปราจีนบุรี ชะนีเกาะช้างตราด นกหยิบจันทบุรี กบสุวรรณจันทบุรี พวงมณีจันทบุรี นวลทองจันทร์จันทบุรี และร่วมชิมทุเรียน 7 สายพันธุ์.