กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น เร่งศึกษาการขยายพันธุ์และส่งเสริมพืชกระท่อมพันธุ์ดี หวังเป็นแนวทางในการส่งเสริมการปลูก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และพัฒนาไปสู่พืชเศรษฐกิจฐานชุมชน เพื่อสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร มีเป้าหมายการผลิต 100,000 ต้น
นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรด้านส่งเสริมการผลิต กล่าวระหว่างร่วมกิจกรรมศึกษาแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคนิคองค์ความรู้การเพาะเลี้ยงกระท่อม ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า ในอดีตพืชกระท่อมถูกระบุในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้แก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 โดยพืชกระท่อมได้พ้นจากบัญชียาเสพติดให้โทษ พิชกระท่อมจึงได้รับความสนใจจากเกษตรกรและประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตามพืชกระท่อมยังขาดการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการขยายพันธุ์ที่มีคุณภาพและปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโต กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดำเนินการวิจัยเรื่องการศึกษาการขยายพันธุ์และส่งเสริมพืชกระท่อมพันธุ์ดีสู่พืชเศรษฐกิจ
มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการขยายพันธุ์ การเจริญเติบโตและการตอบสนองทางสรีรวิทยาในระยะต้นกล้าและศึกษาปัจจัย รวมถึงอุปสรรค สำหรับการขยายพันธุ์กล้าไม้พืชกระท่อม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมการปลูก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และพัฒนาไปสู่พืชเศรษฐกิจฐานชุมชน เพื่อสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรต่อไป โดยมีเป้าหมายการผลิตจำนวน 100,000 ต้น
สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้ง กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกับคณะอาจารย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น กองขยายพันธุ์พืช ศูนย์ขยายพันธุ์พืช สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคนิคในการเพาะกระท่อมพันธุ์ดีซึ่งจะนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการผลิตกระท่อมตามโครงการวิจัยและนำองค์ความรู้ดังกล่าวไว้ใช้ส่งเสริมเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้พืชกระท่อม (Mitragyna speciosa (Korth.) Havil.) ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้แก่ การรักษาโรคตามภูมิปัญญาพื้นบ้านและตำรับยาแผนโบราณ กลุ่มผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร มาเป็นเวลานาน โดยมีสารไมตราจินีน และสาร 7-ไฮดรอกไซไมตราจินีน เป็นสารสำคัญสามารถบรรเทาอาการปวด แก้ปวดท้อง แก้บิด ท้องเสีย แก้ปวดเมื่อยร่างกาย ระงับประสาท ช่วยให้ทำงานทนไม่หิวง่าย โดยพบได้มากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ และบางจังหวัดของภาคกลาง