ดูชัดๆ เหยื่อ “ด้วงมะพร้าว” คิดให้ดีๆส่งเสริมเลี้ยง “ด้วงสาคู” วายร้ายคร่าสวนมะพร้าวแล้วกว่า 8.4 หมื่นไร่

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

     ในช่วงที่ผ่านมา มีบางกรม บางหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังส่งเสริมให้มีการเลี้ยง “ด้วงสาคู” หรือด้วงงวง ซึ่งถือว่าเป็นแมลงศัตรูพืชตระกูลปาล์มถือเป็นวายร้ายสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน

     “ด้วงมะพร้าว” ที่มักจะพบกันบ่อยมี 2 ชนิด คือด้วงแรด และด้วงสาคู โดยที่ด้วงแรดจะเป็นตัวที่เจาะต้นมะพร้าว คือเริ่มแรกจะพบตัวเต็มวัยบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว โดยเจาะทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ ทำให้ใบใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วๆ คล้ายหางปลาหรือรูปพัด กรณีถูกทำลายมาก ใบที่เกิดใหม่จะแคระแกรน รอยแผลตรงบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัด

     หลังจากที่ด้วงมะพร้าวออกไป จะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงสาคูเข้ามาวางไข่ ออกลูกออกเต้า กินยอดมะพร้าว จนยอดเน่าจนถึงต้นตายได้ในที่สุด ซึ่งปัจจุบันข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า มีการระบาดของด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงสาคู ถึง  84,750 ไร่ (ดูลักษณะในคลิป)

       วิธีป้องกันกำจัดด้วงแรกซึ่งตัวต้นที่เจาะต้นมะพร้าวนั้น ต้องแบบผสมผสาน คือ วิธีเขตกรรม ชีววิธี และการใช้สารเคมี คือวิธีเขตกรรม ให้เกษตรกรหมั่นรักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุต้นมะพร้าวบริเวณสวนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ กรณีมีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย กองแกลบ ควรกำจัดออกไปจากสวนมะพร้าว หรือกองให้เป็นที่แล้วหมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหนอนด้วงแรดมะพร้าว ถ้าพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองนั้นทิ้งทันที ตอมะพร้าวที่ที่ยืนต้นตายนั้นให้โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผา

       ส่วนชีววิธี ให้เกษตรกรใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมใส่ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ และเกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด จากนั้นรดน้ำให้ความชื้นและหาวัสดุใบมะพร้าวมาคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด ซึ่งเชื้อราเขียวเมตาไรเซียมจะเข้าทำลายในทุกระยะการเจริญเติบโตของด้วงแรดมะพร้าว

      กรณีที่จะใช้สารเคมีในต้นมะพร้าวอายุ 3-5 ปีที่ยังไม่สูงมาก ให้ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6-8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว หากระบาดมาก ให้ใช้สารฆ่าแมลงสารไดอะซินอน 60% อีซี หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี ชนิดใดชนิดหนึ่ง อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมา โดยใช้ปริมาณ 1-1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15-20 วัน และควรใช้ 1-2 ครั้งในช่วงระบาด