“สมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต” ฉลุย เกษตรกรแห่ปลูกเกือบ 3.7 แสนราย บนพื้นที่กว่า 1.1 ล้านไร่

  •  
  •  
  •  
  •  

อลงกรณ์ พลบุตร

กระทรวงเกษตรฯ  สรุปนโยบายส่งเสริมสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต พบเกษตรกรแห่ร่วมโครงการปลูกแล้วเกือบ 3.7 แสนราย บนพื้นที่กว่า 1.1 ล้านไร่ ได้ GAP เกิน 6.4 หมื่นไร่ เป้าหมายปี 2565 ขยายอีกใน 22 จังหวัด หวังชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีมูลค่าถึง 5 หมื่นล้านบาท 

        นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจแห่งอนาคต (Future Food Future Crop) เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพทางเลือกและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและทุกภาคีภาคส่วน ถือเป็นหนึ่งในเกษตรมูลค่าสูง โดยส่งเสริมสนับสนุนตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา (R&D) ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำการตลาด

      ทั้งนี้ จากนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ทำให้มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยในปัจจุบันมีเกษตรกร 369,353 รายขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านพืชสมุนไพร เครื่องเทศ พืชสมุนไพรที่เป็นพืชอาหาร (รวม 82 ชนิด) ดำเนินการปลูกพืชสมุนไพรบนพื้นที่รวมประมาณ 1.15 ล้านไร่  แบ่งออกเป็น การปลูกพืชสมุนไพรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้า GAP และมาตรฐานพืชสมุนไพรอื่น ๆ กว่า 6.4 หมื่นไร่ และมีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่พืชสมุนไพร ตั้งแต่ปี 2559 – 2564 จำนวนทั้งสิ้น 37 แปลง จำนวนเกษตรกร 1,565 ราย พื้นที่ 7,913 ไร่ ใน 22 จังหวัด

      ในปี 2565 ได้มีกลุ่มเกษตรกรขอเข้าร่วมโครงการอีกจำนวน 15 กลุ่ม กำลังอยู่ในขั้นตอนขอรับรองแปลง อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ  ยังมีโครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพรปี 2565 โดยมีเป้าหมายเกษตรกร จำนวน 1,110 ราย ในพื้นที่ 37 จังหวัด และจัดทำแปลงขยายและรวบรวมพันธุ์สมุนไพรในศูนย์ปฏิบัติการ จำนวน 16 ศูนย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบ ส่งเสริมการผลิตสมุนไพร ตลอดจนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามแนวเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้แก่เกษตรกรและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอย่างมั่นคงและยั่งยืน

      ทั้งนี้ ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่ปี 2564 ด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 4% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิด Covid-19 ที่มูลค่าตลาดประมาณ 54,500 ล้านบาท ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อร่วมกันพัฒนาสมุนไพรให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรให้ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงในทุกมิติ โดยใช้ตลาดนำการผลิต  เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดาเนินการวิจัย ตั้งแต่การกาหนดโจทย์วิจัยที่ตรงตามความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ตาม 10 ภารกิจหลักในการพัฒนาตามแผนด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ. 2563 –2565 นั่นเอง