ประกาศิต “ประภัตร” สุพรรณฯต้องทำนาปีละ 2 ครั้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

ระดมความคิดชาวสุพรรณฯ หาแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำของกรมชลประทานเข้าทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่กระทบต่อผลิตผลเกษตรกรรม “ประภัตร” เผยปัญหาเร่งด่วนสามารถทำได้ทันที ล่าสุดสั่งการไปแล้ว “กำหนดระยะเวลาทำนาของเกษตรกร 2 ครั้ง/ปี ให้กรมชลประทานรับผิดชอบในการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่-ให้ขุดลอกคูคลอง ขุดลอกแก้มลิงทุ่งเจ้าเจ็ด -ทุ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา และแม่น้ำท่าจีน”

     นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานการสัมมนา เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำของกรมชลประทานเข้าทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา (แก้มลิง) จนส่งผลกระทบต่อผลิตผลเกษตรกรรม” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณประธานกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ผู้นำภาคประชาชน ตลอดจนเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรีเข้าร่วมการสัมมนา

     นายประภัตร กล่าวว่า จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่ทุ่งเจ้าเจ็ดและทุ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา เป็นพ้นที่ลุ่มต่ำ มักจะถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ซึ่งกรมชลประทานได้นำแนวทางหลักการของโครงการแก้มลิงมาปรับใช้ในพื้นที่ โดยกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รองรับน้ำ เพื่อกักเก็บไว้ในช่วงฤดูน้ำหลากแล้วระบายออกตอนน้ำลด และน้ำต้องไม่ท่วมหมู่บ้านและชุมชน

      ทั้งนี้ ในปี 2564 จังหวัดสุพรรณบุรีมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย กว่า 10 อำเภอ เนื่องจากกรมชลประทานระบายน้ำเข้าพื้นที่จนเกินศักยภาพของพื้นที่ ประกอบกับน้ำในแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตรของประชาชน นอกจากปัญหาอุทกภัยแล้ว เกษตรกรที่อยู่บริเวณทุ่งเจ้าเจ็ดและทุ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในฤดูแล้ง ดังนั้น การสัมมนาในวันนี้จึงจัดขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังปัญหาของเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพ้นที่ดังกล่าวฯ รวมถึงหาแนวทางแก้ไข และนำเสนอหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป

       อย่างไรก็ตาม หลังจากรับฟังปัญหาต่างๆ ของเกษตรกรในพื้นที่แล้ว มีหลายเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ทันที และตนได้สั่งการไปแล้ว อาทิ การกำหนดระยะเวลาทำนาของเกษตรกร 2 ครั้ง/ปี โดยครั้งแรกเริ่ม 1 มกราคม 2565 – 16 เมษายน 2565 และครั้งที่ 2 เริ่ม 1 พฤษภาคม 2565 โดยให้กรมชลประทานรับผิดชอบในการปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565 เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำในการเพาะปลูก และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากของจังหวัดสุพรรณบุรี

       นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ดำเนินการขุดลอกคูคลอง ขุดลอกแก้มลิงทุ่งเจ้าเจ็ดและทุ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา และแม่น้ำท่าจีน เพื่อให้พร้อมสำหรับการระบายน้ำและการกักน้ำในช่วยฤดูน้ำหลาก รวมถึงให้กรมชลประทานตรวจสอบ ซ่อมบำรุง ดูแลรักษาประตูระบายน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในปี 2565 ต่อไป  ในส่วนของปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในวันนี้หรือยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะเร่งหารือ และนำเสนอหน่วยงานรับผิดชอบอย่างเร่งด่วนต่อไป