“ไรสี่ขามะพร้าว”ภัยร้ายของเกษตรที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม เริ่มระบาดรุนแรงแล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

      ก่อนหน้านี้สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาเตือนว่า ในช่วงเข้าสู่ฤดูแล้งขอให้ชาวสวนมะพร้าว โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ “ไรสี่ขามะพร้าว” ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหาย และระบาดในแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอม เพียงแต่ประเทซไทย ในต่างประเทศ อย่าง บราซิล อินเดีย เม็กซิโก

      ปัจจุบัน เริ่มระบาดแล้วและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมที่สำคัญ เช่น สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา แม้สวนเล็กๆอย่างสวนแสวงหา อ.แสวงหา จ.อ่างทอฃก็ไม่เว้น

      ไรสี่ขามะพร้าวที่ว่าจะอาศัยดูดกินอยู่ใต้กลีบเลี้ยงของผล ทำให้เกิดเป็นแผลร่องลึก  ทำให้ขนาดผลเล็กลงอย่างชัดเจน   หากระบาดรุนแรงจะทำให้มะพร้าวผลเล็ก  ร่วง ส่วนผลที่ไม่ร่วงจะเล็กลีบไม่ได้ขนาด ไม่สามารถจำหน่ายได้   ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องสำรวจและกำจัดไรสี่ขาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะไม่พบอาการของการระบาดในพื้นที่อีก

      วิธีการป้องกันและกำจัดไรสี่ขามะพร้าว หากพบแล้วให้ตัดทำลายจั่นช่อดอกและช่อผลของมะพร้าวทั้งหมดจนกว่าจะไม่พบอาการลูกลาย   จากนั้นนำไปฝังกลบโดยให้มีหน้าดินลึกประมาณ 50 เซนติเมตร  หรือถ่วงน้ำโดยต้องกดให้จมน้ำทั้งหมด  ใส่ถุงพลาสติกดำตากแดดไว้อย่างน้อย 1 สัปดาห์  และเผาทำลายจั่นช่อดอกและช่อผลทั้งหมด 

  

       หลังตัดจั่นช่อดอกและช่อผลให้พ่นสารฆ่าไรอย่างน้อย 4 ครั้ง ห่างกัน 1 สัปดาห์ทุกครั้ง จนกว่าจะไม่พบอาการเข้าทำลาย  หากยังพบอาการลูกลายให้เปลี่ยนชนิดสารฆ่าไรตามกลุ่มสารออกฤทธิ์  โดยสารป้องกันกำจัดไรสี่ขามะพร้าว ตามคำแนะนำ มีดังนี้ โพรพาร์ไกต์ 30% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร อะมิทราซ 20% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร  กำมะถันผง 80% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  และไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

      ที่สำคัญไรสี่ขามะพร้าวไม่สามารถพ่นยาฆ่าไรอย่างเดียวแล้วจะกำจัดไรได้อย่างสิ้นซาก  เนื่องจากยาฆ่าไรเป็นยาประเภทถูกตัวตายเท่านั้น  ส่วนที่อยู่ภายในขั้วผลมะพร้าว ทำให้การฉีดยาไม่สามารถโดนตัวไรได้  ดังนั้นจึงต้องตัดทำลายจั่นช่อดอกและช่อผลของมะพร้าวทั้งหมด