กระแสนิยม “สะตอครัง 1 ” แรงสุดๆ ยอดจองกว่า 7.5 หมื่นต้น ขณะที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง ผลิตได้ปีละเพียง 5,000 ต้นเท่านั้น “มนัญญา” ดันเป็นของดีภาคใต้ พร้อมสนับสนุนกระจายพันธุ์สู่สหกรณ์ หวังเพิ่มการผลิต สร้างรายได้ รองรับความต้องการของเกษตรกร
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นประธานพิธีส่งมอบต้นพันธ์ุสะตอตรัง 1 สู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ โดยมี นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร อ.สิเกา จ.ตรัง
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยพันธุ์สะตอตั้งแต่ปี 2540 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรในชื่อ “สะตอตรัง 1” ในปี 2560 มีความโดดเด่นด้านผลผลิตและคุณภาพ ทำให้ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นจำนวนมาก ในปี 2563 มีการลงชื่อเพื่อขอรับต้นสะตอตรัง 1 จากกิจกรรมผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิตของศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จำนวน 75,000 ต้น ขณะที่ปริมาณการผลิต 5,000 ต้นต่อปี ทำให้ไม่เพียงพอกับความ ต้องการซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยพืชสวนตรังได้ร่วมบูรณาการกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ตรัง จัดทำโครงการกระจายพืชพันธุ์ดีสะตอตรัง 1 สู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนพันธุ์พืช ด้วยการขยายการผลิตต้นพันธุ์สะตอตรัง 1 ไปยังสมาชิกสหกรณ์การเกษตร จำนวน 6 สหกรณ์ และกลุ่มผลิตสะตอช่อง จำนวน 1 กลุ่ม มีสมาชิกรวมทั้งหมด 60 ราย โดยในปี 2565-2566 มีแผนการผลิตต้นพันธุ์ สะตอตรัง 1 จำนวน 35,000 ต้น สร้างรายได้ให้สมาชิกเครือข่ายเป็นเงิน 1,750,000 บาท และมีแปลงแม่พันธุ์ สะตอตรัง 1 รวม 7 ไร่ จำนวน 700 ต้น สำหรับใช้เป็นต้นพันธุ์ในการผลิตต้นพันธุ์สะตอตรัง 1 ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร
“สะตอตรัง 1 เป็นพันธุ์พืชที่เกษตรกรมีความต้องการสูง โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งนิยมปลูกในระบบเกษตรผสมผสาน ขณะที่ปริมาณการผลิตต้นพันธุ์สะตอตรัง 1 มีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอกับความต้องการซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี จึงมองว่าโครงการนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนพันธุ์พืช ด้วยการขยายการผลิตต้นพันธุ์สะตอตรัง 1 ไปยังสมาชิกสหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกร ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพันธุ์พืชที่ได้การรับรองจากกรมวิชาการ” นางสาวมนัญญา กล่าว
ในโอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ ได้มอบนโยบายโดยส่งเสริมให้ศูนย์วิจัยพืชสวนตรังแห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เนื่องจากมีความหลากหลายในพื้นที่ อุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรให้มีความโดดเด่นในแต่ละจังหวัด และแต่ละภาค ซึ่งสะตอตรัง 1 มีชื่อเสียง รสชาติอร่อย เป็นสินค้าเด่นของภาคใต้ที่ใครมาก็ต้องนึกถึง จึงอยากส่งเสริมให้เกษตรกรที่ว่างจากการปลูกปาล์มหรือพืชหลัก หันมาปลูกสะตอตรัง 1 เพื่อสร้างรายได้เสริมได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับรองแหล่งผลิต GAP โดยบูรณาการการทำงานระหว่างกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรในการทำเอกสารขอรับรอง gap ลดความยุ่งยากและติดขัดในเรื่องขั้นตอน เพื่อยกระดับสินค้าให้มีโอกาสแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ
จากนั้น นางสาวมนัญญา ได้เยี่ยมชมนิทรรศการหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ ผลงานวิจัยสะตอตรัง 1 ผลผลิตและการแปรรูปสะตอ วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ จังหวัดตรัง , ผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ โครงการนําลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสาน ต่ออาชีพเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพบ้านบางค้างคาว อ.อสิเกา จ.ตรัง ตลอดจนเยี่ยมชมแปลงเพาะขยายพันธุ์ การสาธิตการติดตาสะตอตรัง 1 และร่วมปลูกต้นสะตอตรัง 1 ตลอดจนเยี่ยมชมอ่างเก็บน้ํา และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวนทั้งสิ้น 50,000 ตัว ลงสู่อ่างเก็บน้ำสถานที่ท่องเที่ยวศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง