“เฉลิมชัย” สั่งเดินหน้า “ผลิตพืชพันธุ์ดี” ช่วยเกษตรกรผู้ประสบภัย รับแรงงานคืนถิ่น เป้าเพิ่มอีก กว่า 4.5 ล้านต้น

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าโครงการผลิตพืชพันธุ์ดี ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย แรงงานคืนถิ่น หวังลดต้นทุนการผลิต และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร เป้างบประมาณปี 2564 – 2565  อยู่ระหว่างดำเนินการผลิตและขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดี 5 ชนิด “พริก-มะเขือ-กะเพรา-โหระพา-แมงลัก” จำนวน 4,586,400 ต้น หลังจาก่อนหน้านี้แจกจ่ายไปแล้ว รวม 4,410,000 ต้น ” รมว.เกษตรฯ” สุดปลื้มทุกโครงบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ผลตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างต่อ สั่งกรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าสนับสนุนพืชพันธุ์ดีแก่เกษตรกรต่อไป

     ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพ หลายธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เว้นแม้แต่ภาคการเกษตร จึงได้กำชับให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19ให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

     อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตรได้รายงานความก้าวหน้าให้ได้รับทราบว่า เกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจและตอบรับโครงการต่างๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นอย่างดี จึงได้มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการต่อไปจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคจะคลี่คลาย

      ด้าน นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า นอกจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการระบาดจนถึงปัจจุบันแล้ว ขณะนี้ยังดำเนินโครงการผลิตพืชพันธุ์ดีเพื่อสำรองใช้ในกรณีช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย และใช้ในภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ภารกิจตามชื่อโครงการที่เน้นช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไปผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ

     ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร แรงงานคืนถิ่นและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยในปีงบประมาณ 2563 – 2564 ได้ดำเนินการผลิตต้นพันธุ์พืชพันธุ์ดี ได้แก่ ต้นพันธุ์พริก มะเขือ กะเพรา โหระพา และแมงลัก พร้อมแจกจ่ายไปแล้ว รวม 4,410,000 ต้น

     ในปีงบประมาณ 2564 – 2565 โครงการนี้ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการผลิตและขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดี 5 ชนิด จำนวน 4,586,400 ต้น ประกอบด้วย ต้นพันธุ์พืชผัก/พืชอาหาร ต้นพันธุ์ไม้ผล/ไม้ยืนต้นหรือพืชเศรษฐกิจ ซึ่งการสนับสนุนต้นพันธุ์แต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับความต้องการในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน จำนวน 4 แสนซอง ทั้งนี้ ไม่เฉพาะการสนับสนุนพืชพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกรเท่านั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจะยังคงเดินหน้าโครงการที่มุ่งบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้แก่เกษตรกรต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

 ในส่วนของโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 นั้นที่ผ่านมาประกอบด้วย  1.โครงการบ้านพอเพียงเลี้ยงชีวิต สู้โควิด-19 ซึ่งเป็นโครงการที่ผ่านมติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อให้เกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบ มีความรู้ในการปลูกพืชผักและสมุนไพร และมีพืชอาหารและพืชสมุนไพรสำหรับการบริโภคภายในชุมชน

    โดยกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการผลิตต้นพันธุ์พืชผักและสมุนไพร 7 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร มะละกอ พริก มะเขือ มะรุม ผักหวานบ้าน และแคบ้าน รวม 3,634,464 ต้น กระจายพันธุ์ผ่านอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน จำนวน 75,130 ราย ให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรจำนวน 225,390 ครัวเรือน นำไปปลูกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

       2.โครงการตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID-19 ที่กรมส่งเสริมการเกษตร บริษัทอีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด และบริษัทเจียไต๋ เมล็ดพันธุ์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ แต่เป็นการรวมน้ำใจจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว โดยใน 1 ชุด ประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ผัก 4 – 5 ชนิด ได้แก่ ผักบุ้ง โหระพา แตงกวา พริกขี้หนู มะเขือพวง คะน้า กระเพรา มอบให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจทำการเกษตรในการปลูกพืชผักสวนครัว มีสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว รวมทั้งสิ้น 310,000 ชุด

      3.โครงการผลิตขยายต้นพันธุ์ฟ้าทะลายโจร เพื่อส่งเสริมการใช้พืชสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นยาสมุนไพรประจำบ้านในการป้องกันและรักษาอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยดำเนินการผลิตต้นพันธุ์ฟ้าทะลายโจร รวมจำนวน 2,000,000 ต้น สนับสนุนให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป  สำหรับในภาพรวมปัจจุบันได้ดำเนินการแจกจ่ายแล้ว 830,137 ต้น และมีต้นพันธุ์พร้อมแจกจ่ายอีก 1,028,863 ต้น