อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำเอง วิธีฟื้นฟูแปลงเพาะปลูกที่มีน้ำท่วมนาน ทั้งพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ พื้นที่หลังน้ำแห้งหมาดๆ และระยะแรกหลังน้ำลด ย้ำอย่าเพิ่มลงเดินทั้งคน สัตว์เลี้ยง และเครื่องจักร และวิธีการปลูกผักหลังน้ำลด ชี้แนวทางเบื้องต้นควรเลือกปลูกชนิดผักที่มีอายุสั้น เก็บผลผลิตได้เร็ว เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศด้วย
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัย และปริมาณฝนตกมากในพื้นที่แปลงปลูก ทำให้บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานติดต่อกันหลายสัปดาห์ ส่งผลทำให้พืชที่ปลูกได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพืชผักซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชอายุสั้น มีระบบรากตื้น เมื่อมีน้ำท่วมขังติดต่อกันนานเกินกว่า 5 ถึง 7 วัน ผักมักจะตายหมดทั้งแปลง หรือหากมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ จะส่งผลทำให้สภาพพื้นที่ปลูกและโครงสร้างของดินในแปลงปลูกผักเสียหายไปด้วย โดยเมื่อน้ำลด เกษตรกรจะยังไม่สามารถปลูกผักได้ทันที จำเป็นจะต้องมีการฟื้นฟูสภาพดินให้เหมาะสมก่อน
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอแนะนำวิธีการเตรียมดินและการจัดการดินในแปลงปลูกผักที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ดังนี้ 1) ในระยะแรกหลังน้ำลด ขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามคนและสัตว์เลี้ยงเข้าไปเหยียบย่ำในแปลงปลูก รวมถึงห้ามนำเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่ เพราะจะทำให้โครงสร้างของดินอัดตัวแน่น และทำให้ระบายน้ำได้ไม่ดี และแข็งตัวเมื่อดินเริ่มแห้ง ทำให้ยากต่อการปรับปรุงดิน
2) กรณีพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่บ้าง เกษตรกรควรหาทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด เช่น การขุดร่องระบายน้ำเพื่อให้เกิดทางน้ำไหลออกจากแปลงโดยเร็ว และ 3) เมื่อพื้นที่เริ่มแห้ง สภาพดินแห้งพอที่จะเข้าไปปรับสภาพดินเพื่อปลูกผักได้ ให้ทำการไถพรวนและตากดินไว้ 2 ถึง 3 วัน เพื่อให้ดินแห้งมากขึ้น และควรหาปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกเก่าใส่คลุกเคล้าดิน เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดิน และทำให้โครงสร้างดินมีสภาพเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชมากขึ้น ทั้งนี้เกษตรกรอาจจะใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ช่วยในการปรับปรุงดิน เพื่อป้องกันปัญหาโรครากเน่าด้วย
สำหรับการเลือกชนิดผักที่จะปลูก เกษตรกรควรเลือกผักที่มีอายุสั้นเก็บผลผลิตได้เร็ว เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ และสภาพพื้นที่ ควรเป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เช่น พริกขี้หนู ผักกาดหอม ผักกาดหัว ผักกาดเขียวปลี ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี ผักชีไทย หอมแบ่ง โหระพา แมงลัก คะน้า กะเพรา ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง มะระจีน บวบเหลี่ยม ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ มะเขือยาว และแตงกวา โดยควรคำนึงถึงความต้องการของตลาดในพื้นที่ด้วย
ส่วนวิธีการปลูก หากสภาพพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขัง หรือสภาพดินยังแฉะอยู่มาก เกษตรกรสามารถเตรียมปลูกผักล่วงหน้าด้วยการเพาะกล้าผักไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาตั้งแต่หยอดเมล็ดถึงย้ายปลูกประมาณ 10 ถึง 20 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของผัก และเมื่อสภาพดินในแปลงปลูกแห้งพอเหมาะ และได้รับการปรับปรุงสภาพดินแล้ว เกษตรกรก็จะสามารถย้ายกล้าผักที่เตรียมไว้ลงในแปลงปลูกได้ทันที ทั้งนี้การเพาะกล้าผักและการย้ายกล้าปลูก
นอกจากจะทำให้สามารถปลูกผักได้ทันทีเมื่อสภาพพื้นที่แห้งแล้ว ยังมีข้อดีคือผักจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าปลูกลงในแปลงโดยตรง ส่วนกรณีที่พื้นที่เริ่มมีสภาพแห้ง และสามารถขุดดินได้แล้ว เกษตรกรควรเตรียมดินปลูกไว้ โดยอาจใช้วิธีการหว่านเมล็ด หรือหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยให้ระยะห่างระหว่างต้นพอสมควร หลังจากนั้นให้ใช้น้ำปูนใสรดต้นกล้าและต้นผักอาทิตย์ละ 1 ถึง 2 ครั้ง จะช่วยลดการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อราได้ สำหรับการดูแลรักษา เกษตรกรควรมีการใส่ปุ๋ย และดูแลป้องกันกำจัดโรคแมลงอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำ
ทั้งนี้ข้อควรระวัง หากดินยังมีความชื้นอยู่มาก ควรปรับปรุงดินด้วยปูนขาว 200 ถึง 300 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (เชื้อราสีเขียว) ใส่ลงในดินด้วย จะช่วยทำให้ป้องกันโรครากเน่าในผักได้ รวมทั้งควรดูแลเรื่องการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเมล็ดงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นกล้า และหากดินเริ่มแห้งมากขึ้นต้องมีการให้น้ำพอประมาณเพื่อไม่ให้ดินรัดต้นกล้าหรือต้นพืชจะตายในที่สุด และไม่ควรปลูกผักให้แน่นเกินไป เพื่อป้องกันเชื้อรา รวมถึงใช้น้ำปูนใสรดต้นกล้า และต้นผักอาทิตย์ละ 1 ถึง 2 ครั้ง จะช่วยลดการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อราได้