คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คลอด 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 64/65 เตรียมชงเข้าครม.เร็วๆนี้ พร้อมแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศรวม 11.65 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 ถึว 5.74 ล้านไร่
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 ตามที่ สทนช.เสนอ รวม 9 มาตรการ ได้แก่
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ
1) เร่งเก็บกักน้ำในทุกแหล่งน้ำให้มากที่สุด 2) จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 3) ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตร 4) กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ติดตาม กำกับ ให้เป็นไปตามแผน 5) วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ส่งเสริมสนับสนุนการเพาะปลูก 6) เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ
7) เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ในแม่น้ำสายหลัก สายรอง 8) ติดตามประเมินผล 9) สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนจัดสรรน้ำ โดยได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำแผนตามมาตรการที่กำหนด และขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมรายงานต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2564/65 โดยวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อขับเคลื่อน 9 มาตรการที่ว่า ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ
1) การวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนในเขตและนอกเขตชลประทาน เพื่อประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้ง แบ่งเป็นพื้นที่อุปโภค บริโภค และพื้นที่เกษตรกรรม
2) แผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การ (ณ วันที่ 1 พ.ย. 64) ทั้งประเทศ รวม 67,618 ล้าน ลบ.ม. ซี่งมากกว่าปี 2563 ถึง 25,739 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนในแต่ละกิจกรรม รวม 30,961 ล้าน ลบ.ม.
ในจำนวนนี้แบ่งเป็น การอุปโภค-บริโภค, รักษาระบบนิเวศ,การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง, และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับการใช้ประโยชน์จากน้ำในแก้มลิง ทุ่งรับน้ำ และแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่เก็บกักไว้เพื่อตัดยอดน้ำหลากมาใช้ในฤดูแล้ง
ทั้งนี้ทำให้แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 64/65 ทั้งประเทศ รวม 11.65 ล้านไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปี 2563 จำนวน 5.74 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 6.95 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 4.7 ล้านไร่
3) คาดการณ์ชี้เป้าประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงภาวะน้ำแล้งฤดูแล้ง ทั้งด้านอุปโภค บริโภค ในเขตและนอกเขตบริการของ กปภ. ด้านการเกษตร สำหรับการเพาะปลูกนาข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง)
นอกเขตชลประทาน และไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกเขตชลประทาน และด้านคุณภาพน้ำ ในพื้นที่รับผิดชอบของการประปานครหลวง (กปน.) และเขตให้บริการของ กปภ.
“สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการตามข้อสั่งการของท่านรองนายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมพร้อมให้การบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้และในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้มีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่วางไว้ ช่วยลดผลกระทบและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง” ดร.สุรสีห์ กล่าว