กรมวิชาการเกษตร อวดโฉมฝ้ายพันธุ์ใหม่ “ตากฟ้า 8” ชูจุดเด่นมึคุณสมบัติพิเศษตอบโจทย์ครบทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ผลสำรวจเกษตรกรกว่า 90 % ชอบที่ มีเส้นใยสั้นสีน้ำตาลตามธรรมชาติ ไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อม ให้ผลผลิตสูง ทนทานแมลงศัตรูฝ้าย ต้านโรคใบหงิก อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ทรงต้นโปร่งดูแลรักษาง่าย ถูกใจสายรักษ์โลก
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ผลิตหัตถกรรมสิ่งทอโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความต้องการปลูกฝ้ายเป็นพืชประจำถิ่นเพื่อนำส้นใยที่ได้ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหัตถกรรมสิ่งทอ โดยพันธุ์ฝ้ายที่ใช้ปลูกจะต้องมีความทนทานต่อโรคและแมลง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการดูแลรักษา รวมทั้งช่วยลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
ทางศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร จึงได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ฝ้ายเพื่อให้ได้พันธุ์ฝ้ายเส้นใยสั้นสีน้ำตาล ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูฝ้าย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวจนได้ฝ้ายพันธุ์ใหม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ใช้ชื่อว่า “ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 8”
ด้านนางสาวศิวิไล ลาภบรรจบ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กล่าวว่า ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 8 เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ฝ้ายระหว่างฝ้ายเส้นใยสั้น ใบขนที่ทนทานต่อการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่นฝ้าย คือพันธุ์ AKH4 ซึ่งมีเส้นใยสีขาว ผลผลิตสูง และอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยใช้เป็นพันธุ์แม่กับพันธุ์ตากฟ้า 3 เส้นใยสั้นสีน้ำตาล และต้านทานต่อโรคใบหงิกใช้เป็นพันธุ์พ่อ จากการประเมินผลผลิต และศึกษาข้อมูลจำเพาะของสายพันธุ์ตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตร ระหว่างปี 2556-2562 พบว่าฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 8 มีลักษณะเด่นเส้นใยสั้นสีน้ำตาลธรรมชาติ ให้ผลผลิตสูงถึง 154 กิโลกรัม/ไร่ ต้านทานต่อโรคใบหงิก และทนทานต่อการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่นฝ้าย ตลอดจนมีอายุการเก็บเกี่ยว 117-147 วัน ซึ่งสั้นกว่าพันธุ์ตากฟ้าประมาณ 10 วัน
ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 8 จัดเป็นฝ้ายน้อยหรือฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง และมีลักษณะดีเด่นคือ ต้านทานต่อโรคใบหงิก และจากการที่เป็นพันธุ์ฝ้ายที่มีลักษณะใบขนทำให้ทนทานต่อการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่นฝ้าย เนื่องจากเพลี้ยจักจั่นฝ้ายมักชอบเข้าทำลายฝ้ายที่มีใบเรียบมากกว่าฝ้ายใบขน จึงสามารถลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้ายลงได้ ซึ่งจะนำไปสู่การ ลด ละ หรือ เลิกการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรค และ แมลง หากมีการจัดการที่เหมาะสม เพื่อรองรับการผลิตฝ้ายอินทรีย์จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 8 จะมีศักยภาพในการให้ผลผลิต ในสภาพที่ไม่มีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้ายแต่ต้องมีการจัดการที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการใช้วิธีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูแบบผสมผสาน ตั้งแต่การเลือกพื้นที่ปลูก ฤดูปลูก รวมถึงการใช้สารชีวภัณฑ์ร่วมด้วย หากพบว่ามีการรระบาดของแมลงศัตรูฝ้ายอย่างรุนแรง
นางสาวศิวิไล กล่าวอีกว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรที่ให้ความร่วมมือในการทำแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ฝ้ายและเกษตรกรที่มาเยี่ยมชมแปลงสาธิตพันธุ์ฝ้ายเพื่อประเมินความพึงพอใจที่มีต่อพันธุ์และสีเส้นใยของฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 8 สรุปได้ว่าเกษตรกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มีความชอบในศักยภาพและลักษณะของฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 8 ในด้านทรงต้นโปร่ง ต้านทานต่อโรคใบหงิก เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์งอกที่ดี การเจริญเติบโตดี ดูแลรักษาง่าย ทนทานต่อแมลงศัตรูฝ้ายโดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่น มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เก็บเกี่ยวง่าย และให้ผลผลิตสูง
รวมทั้งจากคุณสมบัติพิเศษของฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 8 ที่มีสีของเส้นใยเป็นสีน้ำตาลธรรมชาติโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อมสีจึงตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่หันมานิยมใช้เส้นใยฝ้ายสีตามธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบของหัตถกรรม และอุตสาหกรรมสิ่งทอในปัจจุบันและอนาคต