“มนัญญา” ย้ำสำนักวิจัยฯทั้ง 8 เขต เน้นผลิตเมล็ดพันธ์ุคุณภาพ หวังหมายสู่ “Seed Hub”ในอาเซียน

  •  
  •  
  •  
  •  

“มนัญญา” กำชับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขต เน้นผลิตเมล็ดพันธ์ุลูกผสมเปิดที่มีคุณภาพโดดเด่นตามภูมิภาค หวังสู่เป้าหมายไทยศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์รองรับประชาคมอาเซียน ชี้เมล็ดพันธ์ุถือเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตพืชที่เป็นต้นน้ำอีกด้วย

     นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและฟังบรรยายสรุปภารกิจ และเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารพิษตกค้างของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 ว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 มีกลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ตรวจสารพิษตกค้างในผักและผลไม้เพื่อการรับรองแหล่งผลิตพืช GAP และพืชอินทรีย์

     รวมทั้งตรวจเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้จากแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบภาคเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ผักและผลไม้ส่วนใหญ่ที่สุ่มตรวจ ได้แก่ มะม่วง ลำไย พริก ส้มโอ ส้ม หอมแบ่ง มะยงชิด ส้มโอ และ มะเขือ เป็นต้น ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างได้จำนวน 202 ชนิดสาร ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ซึ่งผลการตรวจสารพิษตกค้างจากแปลง GAP และการตรวจเพื่อเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้จากแหล่งจำหน่ายต่าง ๆ ที่ตรวจพบต้องมีปริมาณการตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย

      จากนั้น นางสาวมนัญญา ไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก และกล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์รองรับประชาคมอาเซียน (Seed Hub) และมีแผนแม่บทขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไทย รักษาความเป็นผู้นำต่อยอดความมั่นคงและความยั่งยืนของเมล็ดพันธุ์ไทยในภูมิภาค ตลอดจนเกษตรกรไทยเข้าถึงเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีอย่างเพียงพอ


     “เมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตพืช เป็นต้นน้ำของการผลิตที่ทำให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพดี จึงได้มอบแนวทางการดำเนินงานโดยให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 แสดงศักยภาพของการผลิตเมล็ดพันธ์ุหรือพันธ์ุที่โดดเด่นตามภูมิภาค เนื่องจากเมล็ดพันธ์ุที่ผลิตโดยกรมวิชาการเกษตรเป็นปัจจัยที่สำคัญเพราะเป็นลูกผสมเปิด สามารถเก็บพันธ์ุไว้ขยายพันธ์ุต่อได้ พร้อมทั้งให้ความรู้แก่เกษตรกรในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช” รมช.เกษตรกรฯ  กล่าว