อากาศร้อน ฝนตก ให้ระวังโรคลำต้นเน่าในถั่วลิสง

  •  
  •  
  •  
  •  

     ระยะนี้เข้าสู่ช่วงที่มีอากาศร้อน มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสงเฝ้าระวังการระบาดของโรคลำต้นเน่า สามารถพบได้ในระยะที่ต้นถั่วลิสงออกดอกจนถึงในระยะติดฝัก เริ่มแรกจะพบต้นถั่วลิสงแสดงอาการเหี่ยวและยุบตัวเป็นหย่อมๆ ในแปลงปลูก ส่วนบริเวณโคนต้นเหนือผิวดินจะพบแผลสีน้ำตาลที่ มีเส้นใยสีขาวหยาบของเชื้อราสาเหตุโรค ต่อมาเส้นใยจะรวมตัวเป็นเม็ดเล็กสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำคล้ายเมล็ดผักกาด จากนั้น ต้นจะแห้งและตาย ซึ่งโรคนี้มักพบระบาดมากในระยะติดฝักจนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต

   สำหรับการป้องกันกำจัดโรคลำต้นเน่าในฤดูปลูกถัดไป เกษตรกรควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี อีกทั้งเกษตรกรควรเตรียมดินก่อนปลูก โดยการไถพรวนพลิกหน้าดินให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะสามารถช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินลงได้มาก เพราะเชื้อราสาเหตุโรคสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน จากนั้น ให้โรยด้วยปูนขาวหรือโดโลไมท์ก่อนปลูกเพื่อปรับสภาพดิน อีกทั้งควรจัดระยะปลูกให้เหมาะสม ให้โคนต้นโปร่ง และมีแสงแดดส่องถึง เพื่อไม่ให้มีความชื้นสูงที่เหมาะต่อการเจริญของเชื้อสาเหตุโรค

    เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นถั่วลิสงที่เริ่มแสดงอาการของรคลำต้นเน่า ให้ถอนต้นและขุดดินบริเวณที่พบเป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อราสาเหตุโรค

     จากนั้น ให้รดดินในหลุมที่ขุดและบริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคแพร่ไปยังต้นข้างเคียง ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชคาร์บอกซิน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโทลโคลฟอส-เมทิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีไตรไดอะโซล 24% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน 6% + 24% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยรดสารทุก 5 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง

    หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว เกษตรกรควรทำลายซากต้นถั่วลิสงด้วยการไถกลบหน้าดินให้ลึก เพื่อตัดวงจรการระบาดของเชื้อราสาเหตุโรค และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง ส่วนในแปลงที่พบการระบาดของโรคลำต้นเน่า เกษตรกรควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด เป็นต้น เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค