กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งหาช่องทางเร่งระบายมังคุดจากนครศรีธรรมราช ร่วมมือทุกภาคส่วน ดำเนินการทุกรูปแบบกำหนดราคารับซื้อ ผ่อนปรนแรงงาน เสริมค่าบริหารจัดการ และเปิดประมูลหน้าลาน ขณะที่จีนส่งซิกมา ให้ผู้ส่งออกมังคุดใช้ช่องทางด่านตงซิง และด่านสถานีรถไฟผิงเสียง จะมีเจ้าหน้าที่ไปคอยอำนวยความสะดวกให้ โดยเฉพาะด่านตงซิง มีรถบรรทุกไทยไปใช้บริการแค่วันละ 10-20 คันเท่านั้น
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ไม้ผลภาคใต้กำลังให้ผลผลิตทยอยสู่ตลาดท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปีนี้ได้รายงานว่า ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำมาก โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ตลาดภายในประเทศปิดทำการ ส่งผลทำให้กำลังซื้อลดลง และยังพบปัญหาผู้ประกอบการส่งออก (ล้ง) หยุดรับซื้อมังคุด เนื่องจากสภาพการขนส่งที่ไม่สะดวกเท่าที่ควร ทำให้ปริมาณตู้สินค้าที่ขนสินค้าออกไปต่างประเทศไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาให้บริการได้ทันท่วงที
เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง
ที่สำคัญยังขาดแคลนแรงงานฝีมือในการคัดบรรจุ จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายมาจากภาคตะวันออก แต่ติดขัดในการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพื้นที่ต้องมีการตรวจคัดกรองและกักตัว ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน กรมส่งเสริมการเกษตรมิได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งดำเนินการหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรรกรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แล้ว
สำหรับมาตรการให้ช่วยเหลือส่งออกมังคุดไปจีน ขณะนี้ทูตพาณิชย์และทูตเกษตรได้เข้าไปเจรจากับทางการจีนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และมีข้อเสนอแนะให้ผู้ส่งออกหันไปใช้การส่งออกมังคุดไปจีนผ่านด่านตงซิง และด่านสถานีรถไฟผิงเสียงแทน ซึ่งทางการจีนได้แจ้งว่าหากไทยไปใช้บริการผ่านด่านตงซิงและด่านสถานีรถไฟผิงเสียง ก็จะจัดเจ้าหน้าที่ไปคอยอำนวยความสะดวกให้ โดยเฉพาะด่านตงซิงมีรถบรรทุกไทยไปใช้บริการแค่วันละ 10-20 คันเท่านั้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยเพื่อหาลู่ทางไปใช้ด่านตงซิง และด่านสถานีรถไฟผิงเสียงให้มากขึ้นต่อไป
ด้าน นายนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกมังคุด ประมาณ 96,000 ไร่ เกษตรกร จำนวน 30,199 ราย โดยในปี 2564 ผลผลิตมังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งเป็นผลผลิตในฤดูจำนวน 57,000 ตัน เกรดส่งออกจำนวน 30,000 ตัน บริโภคภายในประเทศจำนวน 17,000 ตัน และที่เหลือเป็นมังคุดตกเกรดจำนวน 10,000 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม 2564 และจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2564
ขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 17,000 ตัน จากผลการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุด 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1) ออกประกาศจังหวัดนครศรีธรรมราชกำหนดให้ล้ง/จุดรับซื้อผลผลิตมังคุดปิดป้ายราคารับซื้อที่ชัดเจนโดยอ้างอิงราคาที่พาณิชย์จังหวัดประกาศทุกวัน
2) ผ่อนปรนการกักตัวและการตรวจคัดกรองแรงงานจากภาคตะวันออกให้เข้ามาเป็นแรงงานเก็บเกี่ยว คัดแยกเกรดและการขนส่งมังคุด ทั้งนี้อยู่ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข 3) ขอรับสนับสนุนแรงงานเสริมจากกองทัพภาคที่ 4 กองอาสารักษาดินแดน เข้ามาช่วยเหลือ ด้านแรงงาน กรณีแรงงานไม่พอ 4 ) ขอสนับสนุนงบประมาณค่าบริหารจัดการเปิดจุดรับซื้อ กิโลกรัมละ 3 บาท จากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และ 5) ขอสนับสนุนงบประมาณกล่องบรรจุภัณฑ์มังคุดเพื่อส่งเสริมการขายแบบออนไลน์ และตะกร้าหูเหล็กสำหรับการคัดเกรดมังคุด
ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการมังคุดครบวงจร ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช บริหารจัดการข้อมูลผลผลิตมังคุดเป็นรายวัน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการทั้ง 5 มาตรการ โดยทุกอำเภอต้องรายงานปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยว ราคาที่กำหนด บริหารจัดการแรงงานและตู้สินค้าบริการข้อมูล การรับออร์เดอร์ออนไลน์ และสรุปปัญหาอุปสรรคเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชทราบ
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรให้กลุ่มแปลงใหญ่มังคุด วิสาหกิจชุมชนมังคุด ซึ่งเป็นผู้ผลิตมังคุดคุณภาพดีเป็นแกนนำ ในการรวมกลุ่มเพื่อรับซื้อมังคุดจากเกษตรกรรายย่อยและคัดเกรดส่งจำหน่ายให้ล้ง/จุดรับซื้อโดยตรง และประสานหาตลาดภายในประเทศเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งยังได้มีการประมูลแบบลาน โดยการนำรถขนมังคุดมาเปิดประมูลให้กับพ่อค้าที่สนใจมารับซื้อ และมีตัวแทนเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ช่วยกันตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา
“ตอนนี้ ได้รับการสนับสนุนด้านแรงงานเสริมจากกองทัพภาคที่ 4 กองอาสารักษาดินแดน การจัดซื้อกล่องกระดาษจำนวน 1 แสนใบ และตะกร้าหูเหล็ก จำนวน 3 หมื่นใบ สามารถดำเนินการได้แล้ว คาดว่าในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มังคุดออกสู่ตลาดมากที่สุด มาตรการทั้ง 5 มาตรการ สามารถกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ได้เร็วที่สุด” นายนิพนธ์ กล่าว