กรมการข้าวเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพอีก 3.2 ตันต่อปี สร้างอาชีพให้เกษตรกรกว่า 4,000 ราย

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                   ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์

กรมการข้าว ชงเรื่องของบประมาณ ดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตและประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าว หวังแก้ปัญหาเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวนา คาดเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 32,000 ตัน/ปี สร้างอาชีพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กรมการข้าวปีก 4,400 ราย 

       นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการเมล็ดพันธุ์ดีของชาวนาไทยยังไม่เพียงพอ กับพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 70 ล้านไร่ มีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีเพาะปลูก ปีละประมาณ 1,364,800 ตัน แต่ในขณะเดียวกันกรมการข้าว รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน และภาคเอกชนร่วมกันจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ดีได้ประมาณ 537,000 ตันเท่านั้น

      ทั้งนี้กรมการข้าวผลิตได้ 95,000 ตัน สหกรณ์การเกษตร 30,000 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชน 112,000 ตัน และภาคเอกชน 300,000 ตัน หรือประมาณ 40% ของปริมาณเมล็ดพันธุ์ดีต้องการใช้ในการยกระดับคุณภาพและปริมาณการผลิตข้าวของประเทศไทย ถึงแม้ต่อมากรมการข้าวจะได้รับงบประมาณเงินกู้เพื่อใช้ดำเนินการเพิ่มศักยภาพการผลิตและปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวไป จนสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ได้ส่วนหนึ่งจากเดิมที่เคยมีกำลังการผลิต 85,000–95,000 ตัน/ปี เป็น 120,000 ตัน/ปี

    นายณัฏฐกิตติ์  กล่าวอีกว่า  เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ดีให้ให้กับพี่น้องชาวนา กรมการข้าวจึงเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตและประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวขึ้น เพื่อรองรับเป้าหมายการผลิตเมื่อดำเนินการโครงการเดิมเสร็จสิ้น 120,000 ตัน/ปี และเพิ่มกำลังการผลิตอีก 32,000 ตัน/ปี รวมเป็น 152,000 ตัน/ปี ซึ่งจะก่อให้เกิดอาชีพผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้กรมการข้าว จำนวน 4,400 ราย 

      เป้าหมายที่จะดำเนินการ คือการเพิ่มศักยภาพโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ ด้วยการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อทดแทนของเดิมที่มีอายุการใช้งานมานานแล้ว จำนวน 9 ชุด โดยการก่อสร้างอาคารโรงเก็บเมล็ดพันธุ์ ปรับอากาศพร้อมครุภัณฑ์ประกอบ จำนวน 15 แห่ง สำหรับใช้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวระยะยาวเพื่อ รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การเกิดโรคและศัตรูข้าวระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การผันผวนของความต้องการ พันธุ์ข้าว ราคาข้าวเปลือก เศรษฐกิจครัวเรือนและสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ