“มนัญญา” ลุยโรงเรือนปลูกกัญชา ติดตามผลการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา ทั้งพันธุ์พื้นเมืองของไทย และพันธุ์การค้าจากต่างประเทศของกรมวิชาการเกษตร พร้อมเปิดตัวคู่มือในการผลิตพืชสกุลกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม รวมทั้งขั้นตอนการหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ขณะที่ “พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ” เผยกรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมแล้วในเรื่องของพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต เพื่อขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนที่สนใจเกี่ยวกับพืชสกุลกัญชา
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเยี่ยมชมการดำเนินการเกี่ยวกับพืชสกุลกัญชา ณ โรงเรือนทดสอบความปลอดภัยทางชีวภาพ อาคารปฏิบัติการ สำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ว่า ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการเกี่ยวกับพืชสกุลกัญชาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1) การควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชสกุลกัญชา ป้องกันเกษตรกรถูกผู้ค้าเอาเปรียบ โดยการประกาศให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมตามพ.ร.บ.พันธุ์พืช 2) ด้านวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิต 3) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนปลูกพืชสกุลกัญชา และ 4) ด้านความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เรื่องความรู้ทางวิชาการ การร่วมตรวจประเมิน และใบอนุญาตเมล็ดพันธุ์ควบคุม
สำหรับการเยี่ยมชมการดำเนินงานเกี่ยวกับพืชสกุลกัญชาของกรมวิชาการเกษตรในวันนี้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโรงเรือนปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทั้งพันธุ์พื้นเมืองของไทย และพันธุ์การค้าจากต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม ที่เริ่มปลูกมาตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 พร้อมเปิดตัวคู่มือสำหรับเกษตรกรการผลิตพืชสกุลกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรม อีกทั้งในเรื่องขั้นตอนการหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการปลูกพืชสกุลกัญชาในสภาพแปลงปลูกของประเทศ โดยใช้ Zoning by Agri-map สำหรับเผยแพร่สู่เกษตรกรและผู้สนใจต่อไป ที่เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร กับกรมพัฒนาที่ดิน
ในส่วนของเกษตรกรและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับพืชสกุลกัญชา สามารถติดต่อขอรับเอกสารคู่มือสำหรับเกษตรกรการผลิตพืชสกุลกัญชาฯ ได้โดยตรงที่กรมวิชาการเกษตร หรือสามารถดาวน์โหลดคู่มือสำหรับเกษตรกรการผลิตพืชสกุลกัญชาฯ และข้อมูลการหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการปลูกพืชสกุลกัญชาในสภาพแปลงปลูกของประเทศ โดยใช้ Zoning by Agri-map ได้จากเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรที่ www.doa.go.th กรณีที่ต้องการศึกษาดูงานจากโรงเรือนปลูกกัญชาเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมสามารถติดต่อได้โดยตรงที่กรมวิชาการเกษตร” รมช.มนัญญา กล่าว
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีการขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินงานเกี่ยวกับพืชสกุลกัญชา ได้แก่ ด้านการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์พืชสกุลกัญชา เพื่อควบคุมการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐานคุณภาพ ปลอดจากโรคแมลง คุณภาพสูง และตรงตามมาตรฐานสากล ด้านวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 โครงการรวบรวม ศึกษา และขยายพันธุ์กัญชาพันธุ์พื้นเมืองของไทย และพันธุ์การค้าจากต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อุตสาหกรรม ได้รับใบอนุญาต (ปลูก) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 (โรงเรือนปลูกพืช GMOs สำนักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร) และได้เริ่มดำเนินการปลูกและบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ในเดือนมิถุนายน 2564 2) การดำเนินการสำรวจและศึกษาพันธุ์กัญชา พบสายพันธุ์ไทยและต่างประเทศจาก 187 แหล่งปลูก 39 สายพันธุ์
3) การดำเนินงานวิจัยร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกสมุนไพรไทยโนนมาลัย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และกลุ่มวิสาหกิจแผ่นดินเงิน แผ่นดินทอง จังหวัดนนทบุรี โดยมีการศึกษาทั้งในสภาพโรงเรือนและแปลงปลูกกลางแจ้ง เพื่อผลิตเมล็ด (grain for oil) และช่อดอก (CBD) 4) การร่วมดำเนินงาน “โครงการปลูกกัญชา 6 ต้น โนนมาลัยโมเดล” ณ บ้านโศกนาค ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้ให้คำแนะนำเรื่องการปลูก การขยายพันธุ์ และการดูแลรักษาให้แก่เกษตรกรในโครงการฯ
ส่วนที่ 2 โครงการทดสอบพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อดำเนินการศึกษาหาพันธุ์ที่เหมาะสมในพื้นที่ปลูกของประเทศไทย ภายในพื้นที่ของหน่วยงานในสังกัดกรมวิชาการเกษตร 38 สถานที่ ตั้งแต่ เมษายน 2564 – มีนาคม 2565 2) ดำเนินการปลูกเพื่อผลิตเมล็ด (grain for oil) และ ช่อดอก (CBD)ที่แปลงปลูกขนาด 1 ไร่/สถานที่ และโรงเรือน 1 โรงเรือน/สถานที่ 3) ดำเนินการจัดหาและนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงจากต่างประเทศ โดยได้รับใบอนุญาตนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 4) เตรียมการขออนุญาตปลูกจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และ สสจ. แต่ละจังหวัด ซึ่งยื่นขออนุญาตไปแล้ว 38 แห่ง
ส่วนที่ 3 การขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชสกุลกัญชา การส่งเสริมและสนับสนุนการยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชสกุลกัญชา พ.ร.บ.พันธุ์พืช และพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช การขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์กัญชง จำนวน 4 พันธุ์ คือ พันธุ์ RPF 1-4 โดยมูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และการขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์กัญชา จำนวน 1 พันธุ์ คือ พันธุ์อิสระ 01 โดยกรมการแพทย์และมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์
นอกจากนี้ ยังมีในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชสกุลกัญชา 1) การจัดทำคู่มือสำหรับเกษตรกรการผลิตพืชสกุลกัญชา เพื่อเป็นพื้นฐานการปลูกที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ พร้อมเผยแพร่ในเดือน กรกฎาคม 2564, 2) จัดทำแผนที่ที่มีความเหมาะสมกับการปลูกพืชสกุลกัญชาในสภาพแปลงปลูกของประเทศ โดยใช้ Zoning by Agri-map ที่เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับกรมพัฒนาที่ดิน
3) เผยแพร่คู่มือการผลิตพืชสกุลกัญชา และแผนที่ความเหมาะสม ให้ผู้สนใจบน เว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร www.doa.go.th 4) คัดเลือกสมาชิกสหกรณ์ และสมาชิกกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมปลูกกัญชงเพื่อเมล็ด (grain) และประสานกับเอกชนผู้รับซื้อผลผลิต โดยร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ 5) การติดตาม ตรวจสอบ ควบคุมการปลูก การดูแลรักษา และการเก็บผลผลิตพืชสกุลกัญชา ให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาการ ส่วนด้านความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจประเมินก่อนปลูกและตรวจติดตามหลังจากได้รับอนุญาตปลูกจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข
“ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในเรื่องของพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตพืชสกุลกัญชา เพื่อขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนที่สนใจเกี่ยวกับพืชสกุลกัญชา รวมถึงในด้านการควบคุมกำกับตาม พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์นำเข้าและดูแลกำกับ เมล็ดพันธุ์ควบคุม พ.ร.บ.พันธุ์พืช และมีระบบการตรวจประเมินผู้ขออนุญาตปลูกและติดตามการผลิตพืชสกุลกัญชาอย่างเคร่งครัด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว