กองทุน FTA ไฟเขียวงบฯ 25 ล้านบาท อนุมัติ 2 โครงการพัฒนาข้าวไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

                                           ฉันทานนท์ วรรณเขจร

คณะกรรมการบริหารกองทุน FTA ไฟเขียวงบฯ 25 ล้านบาท ดำเนิน 2 โครงการพัฒนาข้าว หวังช่วยสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2 กลุ่ม “เกษตรกรทำนาเศรษฐกิจพอเพียง-เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล EU/NOP ด้วยวิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ที่ จ.ขอนแก่น ให้มีศักยภาพ การแข่งขัน เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน รวมทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย

     นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (FTA) ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการบริหารกองทุน FTA ได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 25 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการพัฒนาข้าว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่

     1. โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มเกษตรกรทำนาเศรษฐกิจพอเพียง ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น วงเงิน 9.404 ล้านบาท มีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (ตั้งแต่ปี 2564 – 2571) เพื่อพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ได้แก่ พันธุ์ กข.6 และพันธุ์หอมมะลิ 105

      นอกจากนี้ยังใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวขยายชุมชน และเมล็ดพันธุ์ข้าวหลักชุมชน โดยจำหน่ายให้แก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เครือข่ายขบวนการสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และศูนย์ข้าวชุมชนและแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นข้าวสารบรรจุถุง โดยจะร่วมกับกรมการข้าวในการตรวจสอบและรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวตามระบบ GAP Seed และการบริหารจัดการระบบควบคุมภายใน (Internal Control System: ICS) การตรวจวิเคราะห์เมล็ดพันธุ์ข้าว 5 ขั้นตอน รวมถึงการตรวจรับรองแปลงนา 3 ปี ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น

     2. โครงการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล EU/NOP ด้วยวิธีการบริหารจัดการน้ำเพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ วงเงิน 15.598 ล้านบาท มีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2564 – 2567) โดยมีทีมที่ปรึกษาให้ความรู้คำแนะนำ แก้ไขปัญหา และกำกับดูแลตั้งแต่พื้นฐานกระบวนการผลิตให้ได้ผลผลิตข้าวอินทรีย์ ที่มีมาตรฐาน ตามข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล

      ทั้งนี้ด้วยการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) เป็นการผลิตข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลเพื่อการส่งออก และมีตลาดรับซื้อล่วงหน้าที่แน่นอน รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในพื้นที่แปลงนาอินทรีย์ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับพื้นที่เพาะปลูกข้าวอินทรีย์

      “ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งในเรื่องของการมีศักยภาพ การแข่งขัน เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน รวมทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้อย่างมั่นคง จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และผลผลิตจากข้าว นอกจากนี้ เกษตรกรจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกข้าวตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานอินทรีย์สากล ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการส่งออก เพิ่มช่องทางการประสานงานระหว่างภาคีภาครัฐและกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกของกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สศก. กล่าว

                                                                  อัญชนา ตราโช

     ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า ปัจจุบัน เกษตรกรไทยประกอบอาชีพทำนาประมาณ 3.7 ล้านคน พื้นที่ปลูกข้าว รวม 80.67 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นาปี 64.57 ล้านไร่ (ร้อยละ 80) และพื้นที่นาปรัง 16.10 ล้านไร่ (ร้อยละ 20) ผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 453 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่ผลผลิตข้าวเฉลี่ยในประเทศอาเซียนอื่น ๆ อยู่ที่ 638 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งนับว่ายังต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน และในแต่ละปีมีความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 6 แสนตัน แต่เมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันยังได้คุณภาพไม่ดีพอ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งเป้าหมายสำคัญของ 2 โครงการเพื่อพัฒนาข้าวในครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreement : AFTA) เนื่องจาก ข้าว นับเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางด้านราคา ผลผลิต โดยประเทศไทย ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศ เพื่อนบ้านในอาเซียน นอกจากนี้ ข้าว ยังเป็นสินค้าเกษตรที่อยู่ในกลุ่มกำหนดโควตาภาษี (TRQ) อีกด้วย


      “ข้าว ถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทยมาอย่างยาวนาน และจากความตกลงทางการค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (Asean Free Trade Area : AFTA) ทำให้ประเทศไทยได้เปิดตลาดข้าวโดยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ประเทศคู่แข่งในการผลิตข้าวที่สำคัญ เช่น เวียดนาม เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา จึงมีแนวโน้มที่จะส่งออกข้าวและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ดังนั้น ไทยจึงควรผลิตสินค้าข้าว ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่กลุ่มผู้บริโภคให้ความสนใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่ง สศก. โดยกองทุน FTA เรามีความพร้อมและให้การสนับสนุนเงินทุน ให้คำปรึกษา สำหรับนำไปพัฒนาศักยภาพ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า และเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทยอย่างเต็มที่” รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย
​​​​