เตรียมแผนรับมือผลผลิตสับปะรดล้นตลาดช่วงไตรมาส 4 สั่ง คพจ.-เซลล์แมนจังหวัด บริหารจัดการ Demand & Supply อย่างเคร่งครัด

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                        ฉันทานนท์ วรรณเขจร 

สศก.ประเมินผลผลิตสับปะรดในปี 2564 คาดจะมีถึง 1.8 ล้านตัน เตรียมแผนรับมือผลผลิตกระจุกตัวช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้กว่า 5.5 แสนตัน คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดฯ มีมติเน้นใช้กลไก คพจ.และเซลล์แมนจังหวัดในแหล่งปลูก เร่งกำหนดมาตรการเชิงรุก ตามแนวทาง/มาตรการ ให้เห็นผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

      นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564  ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธานว่า ในปี 2564 คาดว่าจะมีผลผลิตสับปะรดประมาณ 1.8 ล้านตัน โดยแบ่งเป็นผลผลิตในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม – มิถุนายน 2564) มีประมาณ 0.987 ล้านตัน ซึ่งจะออกมากช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 ประมาณ 0.550 ล้านตัน และผลผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม – ธันวาคม 2564) ประมาณ 0.813 ล้านตัน ซึ่งจะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ประมาณ 0.557 ล้านตัน

       ผลผลิตที่กระจุกตัวในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะส่งผลต่อราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ เห็นควรต้องมีแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดในจังหวัดแหล่งผลิตสำคัญ ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตสับปะรดช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 โดยใช้กลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และคณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด (เซลล์แมนจังหวัด) ในแหล่งผลิตสับปะรด เร่งแก้ปัญหาผลผลิตโดยกำหนดเป็นมาตรการเชิงรุก ดำเนินการตามแนวทาง/มาตรการ ให้เห็นผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

                                                                      อัญชนา ตราโช 

     ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า มาตรการที่จะดำเนินการนั้น ประกอบด้วย การเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า โดยจับคู่ธุรกิจ ให้สถาบันเกษตรกร ทำสัญญาข้อตกลงกับโรงงานแปรรูป การกระจายผลผลิต ภายในจังหวัดและออกนอกแหล่งผลิต ให้เชื่อมโยงตลาดผ่านเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ช่องทาง Online และ Offline รวมทั้งจัดหาจุดจำหน่ายสับปะรด การส่งเสริมการบริโภค โดยจัดงานประจำจังหวัด งานแสดงสินค้า ตลาดประชารัฐ ร้านธงฟ้า อตก. ส่งเสริมการบริโภคสับปะรดในหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล โรงเรียน เรือนจำ นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์กระตุ้นการบริโภค การส่งเสริมการแปรรูป โดยขอความร่วมมือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกร และภาคเอกชน รับซื้อผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูป และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตให้ผลิตสับปะรดเพื่อบริโภคสดเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกษตรกรในจังหวัดแหล่งผลิตและจังหวัดที่อยู่ห่างไกลโรงงานแปรรูปปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อให้ผลิตสับปะรดบริโภคสดเพิ่มขึ้น เป็นต้น

      นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านสับปะรด พ.ศ. 2564 – 2565 ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการผลิต 2) การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมแปรรูป และ 3) การเพิ่มศักยภาพการตลาดและการส่งออก ด้วยการนำหลักการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) มาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพิ่มมูลค่าผลสับปะรดและสิ่งเหลือใช้รวมทั้งมอบหมายคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสับปะรดกำกับดูแลการดำเนินงาน และให้หน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการตามแผนให้เป็นรูปธรรมและสามารถชี้วัดได้ชัดเจน เกิดผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสับปะรดทั้งระบบต่อไป
​​​​