กรมวิชาการเกษตร แจ้งว่า ระยะนี้จะมีอากาศร้อน และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกรเฝ้าระวังการระบาดของโรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่า มักพบโรคได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของแก้วมังกร จะพบแสดงอาการเริ่มแรกที่กิ่งหรือผลมีจุดสีเหลือง จากนั้นพัฒนาเป็นตุ่มนูนเล็กสีน้ำตาลคล้ายสี สนิมเหล็ก บางครั้งพบแผลสีเหลืองฉ่ำน้ำ หากอาการรุนแรงแผลจะเน่า ถ้าเป็นที่กิ่งจะทำให้เนื้อเยื่อตรงแผลหลุดเห็นเป็นรูหรือเว้าแหว่ง สำหรับผลที่มีอาการรุนแรง จะทำให้กลีบผลไหม้แห้งเป็นสีดำ และผลเน่าในที่สุด
สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่า ให้เกษตรกรเลือกใช้ต้นพันธุ์ที่แข็งแรงปลอดโรค และควรลดการให้ปุ๋ยไนโตรเจน เพราะแก้วมังกรเป็นพืชอวบน้ำ อาจทำให้พืชอ่อนแอเกิดโรคได้ง่ายขึ้น จากนั้น ให้หมั่นสำรวจทำความสะอาดกำจัดวัชพืชโคนต้น เก็บกวาดเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคใต้ต้นออกไปทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความชื้น
อย่างไรก็ตาม หากพบโรค ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคของพืชอย่างระมัดระวังทำให้เกิดแผลน้อยที่สุด ซึ่งแผลจะเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุของโรคเข้าทำลายพืชได้ง่าย การตัดแต่งกิ่งควรตัดตรงส่วนที่เป็นรอยต่อของข้อระหว่างกิ่ง และนำส่วนที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก อีกทั้งเกษตรกรควรล้างทำความสะอาดอุปกรณ์และเครื่องใช้ทางการเกษตรให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้งหลังการใช้งานทุกครั้งอยู่เสมอก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ เกษตรกรควรให้น้ำแก้วมังกรเฉพาะในช่วงเช้า หลีกเลี่ยงการให้น้ำในช่วงบ่ายหรือเย็น เพื่อช่วยลดการสะสมความชื้นในทรงต้น กรณีระบาดมาก หลังจากตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้วให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชโพรคลอราซ 45% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซอกซีสโตรบิน + ไดฟีโนโคนาโซล 20% + 12.5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วต้นจำนวน 4 ครั้ง ทุก 5-7 วัน และในระยะติดดอกพ่นอีกจำนวน 3 ครั้ง ทุก 7 วัน โดยให้หยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตแก้วมังกรอย่างน้อย 15 วัน