เดินหน้าขับเคลื่อน BCG Model ภาคเกษตร ผลักดันสู่ 3 สูง

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                      ดร.ทองเปลว กองจันทร์

กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อน BCG Model ภาคเกษตร ผลักดันเกษตรไทยสู่ 3 สูง ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง” เชื่อมโยงกับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายสําคัญของประเทศmyh’ เกษตรและอาหาร  สุขภาพและการแพทย์   พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ   การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

      ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ด้านการเกษตร ผ่านระบบ VDO Conference ซึ่งกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรด้วย BCG Model นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ด้านการเกษตร โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มีอํานาจหน้าที่ในการกําหนดแนวทาง มาตรการ หรือกลไกการดําเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามแผนงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดล เศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564 – 2569 ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร พิจารณาแผนงาน/โครงการ งบประมาณ และวางระบบการติดตามและประเมินผลการดําเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวด้านการเกษตร (BCG Model) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามคําสั่งแล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

      สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายเพื่อ “ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง  ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา มุ่งยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูงครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อเป้าหมายให้การทําการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง ด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมี่ยม มีความหลากหลาย และกําหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร”

      ดร.ทองเปลว กล่าวอีกว่า การพัฒนาภาคเกษตรและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับภาคเกษตร ภายใต้แนวคิด BCG Model จําเป็นต้องเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) 4 อุตสาหกรรมสําคัญของประเทศ ได้แก่ (1) เกษตรและอาหาร (2) สุขภาพและการแพทย์ (3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ (4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นการเชื่อมโยงกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยบูรณาการห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของการพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง โดยใช้ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน ซึ่งมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร เพื่อให้ GDP ภาคเกษตรเติบโตอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น รวมถึงอนุรักษ์ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเกษตรอย่างสมดุลและยั่งยืน

      ทั้งนี้ สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ดําเนินการรวบรวมประเด็นและกิจกรรมเพิ่มเติมภายใต้ BCG Value Chain ภาคการเกษตร และได้ดําเนินการพิจารณาโครงการและกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยคัดเลือกโครงการที่สอดคล้องกับกรอบการดําเนินงาน BCG Value Chain ภาคการเกษตร ภายใต้หลักการ “ตลาดนําการผลิต” จํานวน 39 โครงการ นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบกรอบแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 ในระดับกรมและระดับจังหวัดด้วย เพื่อให้การจัดทำแผนงาน/โครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันตลอดห่วงโซ่คุณค่า และให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ในเบื้องต้น สป.กษ. ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี พัทลุง จันทบุรี ขอนแก่น และลำปาง