สุดยอดแอพพลิเคชั่น “ระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย” ของกรมการข้าว ทดสอบแล้วชาวนาใน กทม.มีกำไรเพิ่มถึง 75%

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมการข้าว จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พัฒนาแอพพลิเคชั่น “ระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย” ช่วยชาวนาบริหารจัดการข้าวอย่างครบวงจรด้วยตัวเอง เผยผลการทดสอบการใช้งานและความแม่นยำของระบบในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก  6 จังหวัด พบว่าเกษตรกรที่ร่วมโครงการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตได้จริง ขายได้ราคา มีกำไรเพิ่มเฉลี่ยร้อย 46 ขณะที่ชาวนาชาวนาในจังหวัดกรุงเทพฯมีกำไรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75

     นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ทางกรมการข้าวได้ทำการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “ระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย”หรือ GLAS RICE  ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวง กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร (สวก.)

    เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านข้าว การวางแผนการผลิต การคัดเลือกพันธุ์ข้าว ที่จะช่วยในการลดความเสี่ยงจากศัตรูพืชสำคัญ เช่น โรคไหม้ และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นต้น  นอกจากนั้นยังช่วยในเรื่องการพยากรณ์อากาศ การระบาดของโรคและแมลงและการจัดการราคาขาย ที่สำคัญตัวแอพพลิเคชั่นสามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก สะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และเชื่อถือได้ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

    สำหรับ แอพพลิเคชั่นระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย ได้มีการทดสอบการใช้งานและความแม่นยำของระบบ โดยได้ดำเนินการศึกษาในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา มีการทดลองนำนวัตกรรมเทคโนโลยีไปใช้กับกลุ่มเกษตรกร

     ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทดสอบระบบมีผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยลดลงร้อยละ 24 ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7  และมีกำไรเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 ซึ่งการปฏิบัติตามคำแนะนำของแอพพลิเคชั่นระบบที่ปรึกษาชาวนาไทย  สามารถช่วยยกระดับรายได้ของชาวนาในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตลดลงร้อยละ 49 และมีราคาขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 รองลงมาคือจังหวัดนนทบุรี ราชบุรี ฉะเชิงเทรา และนครปฐม

      จากงานวิจัยครั้งนี้ ยังพบว่าเกษตรกรสามารถวางแผนในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมการจัดการแปลงนาที่มีประสิทธิภาพและการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงที่เหมาะสม โดยได้ข้อมูลพฤติกรรมของชาวนาทั้งในเรื่องการผลิตและการตลาดที่จะถูกนำเข้าและพัฒนาให้ระบบมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อให้นวัตกรรมเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าสู่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้ระบบเกิดความแม่นยำ และช่วยให้ชาวนาตัดสินใจผลิตข้าวได้ตรงตามความต้องการของตลาด และมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต