“ประภัตร” หารือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ถกแผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร พร้อมผลักดันกรอบการทำงานให้เป็นรูปธรรม และควบคุมราคากลางให้เป็นมาตรฐานทั่วประเทศ เผยปี 2565 กรมการข้าวต้องจัดหาเมล็ดพันธุ์กว่า 5 แสนตัน ขณะที่กรมการข้าวผลิตได้ 1 แสนตัน ศูนย์ข้าวชุมชนมีกำลังการผลิตได้ 1.1 แสนตัน สหกรณ์ต่างๆ มีกำลังการผลิตได้รวมเพียง 3 หมื่นตันเท่านั้น
วันที่14 มิถุนายน 2564 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือการวางแผนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี2564/2565 ณ ห้องประชุมรวงข้าว อาคารกรมการข้าว ผ่านระบบประชุมออนไลน์ (Zoom Meetings) โดยมีนายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมการข้าว สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ศูนย์ข้าวชุมชน ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ อาทิ สมาคมรวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ สมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทยและตัวแทนภาคเกษตรกรเข้าร่วม
นายประภัตร กล่าวว่า แผนการปลูกข้าวของกรมการข้าว ได้ประกาศไปทั้งสิ้น จำนวน 60 ล้านไร่ โดยตามหลักแล้วต้องใช้เมล็ดพันธุ์ 15 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ รวมใช้เมล็ดพันธุ์ 900,000 ตันโดยประมาณ มีกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญ แบ่งเป็น 5 ชนิด 1.ข้าวหอมมะลิ ตามแผนจะมีการผลักดันให้มีการเพาะปลูก 27 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 450,000 ตัน 2.ข้าวหอมไทย ตามแผนจะผลักดันให้มีการเพาะปลูกทั้งสิ้น 1.6 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 24,000 ตัน 3.ข้าวขาวชนิดพื้นนุ่ม ตามแผนจะมีการผลักดันให้เพาะปลูก 2 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 30,000 ตัน 4.ข้าวขาวชนิดพื้นแข็ง ตามแผนจะมีการผลักดันให้เพาะปลูก 17 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 205,000 ตัน 5.ข้าวเหนียว ตามแผนจะมีการผลักดันให้เพาะปลูก 17 ล้านไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 205,000 ตัน
ทั้งนี้ กรมการข้าวจำเป็นต้องจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกร จำนวนทั้งสิ้นกว่า 500,000 ตัน โดยแบ่งเป็น กรมการข้าวผลิตได้ในปี 2565 ประมาณ 100,000 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชนมีกำลังการผลิตได้ 110,000 ตัน สหกรณ์ต่างๆ มีกำลังการผลิตได้ รวม 30,000 ตัน ทำให้สมาคมพ่อค้า ผู้ผลิตและรวบรวมเมล็ดพันธุ์ ต้องหาเพิ่มเติมอีก 260,000 ตัน
อย่างไรก็ตาม แผนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้น ตอนนี้เป็นเรื่องหลักที่ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้เข้ามา มีส่วนร่วมในการวางแผน เพื่อให้เกิดเป็นกรอบการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งตามโครงสร้างนั้น กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าวจะเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด และเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลัก โดยมีอัตราส่วนการผลิตอยู่ที่ 1 ต่อ 10 และจะนำเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลักส่งมอบให้กองเมล็ดพันธุ์ กรมการข้าว นำไปผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยาย โดยมีอัตราส่วนการผลิตอยู่ที่ 1 ต่อ 40
หลังจากนั้นศูนย์ข้าวชุมชน สหกรณ์ต่างๆ และสมาคมพ่อค้า ผู้ผลิตและรวบรวมเมล็ดพันธุ์ จะมารับเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายไปทำการผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายต่อไป โดยตนเตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกระเบียบบังคับอย่างชัดเจน ในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยผู้ที่ทำเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่ายนั้น จะต้องแสดงหลักฐานว่าได้รับเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยายจากกรมการข้าวให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ เมื่อเกิดความเสียหายจากเมล็ดพันธุ์ในบรรจุภัณฑ์ จะได้มีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมถึงสามารถควบคุมราคากลาง ให้เป็นมาตรฐานทั่วประเทศ” รมช.ประภัตร กล่าว