กรมวิชาการเกษตร เร่งเครื่องขยายผลเทคโนโลยีชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพสู่ภูมิภาค ดันนักวิจัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงขยายผลองค์ความรู้สู่กลุ่มเกษตรกรผลิตได้ ใช้เป็น จะเริ่มจะเริ่มดำเนินโครงการในเดือนกรกฎาคม 2564 วางเป้าหมายสู่กลุ่มเกษตรกรจำนวน 8,425 รายครอบคลุมพื้นที่จำนวน 57 จังหวัด
นายอนันต์ อักษรศรี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะโฆษกกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนโครงการขยายผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จแล้ว สามารถไปสู่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุดเป็นนโยบายหลักของนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้มอบนโยบายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 เขตหน่วยงานในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร เร่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ซึ่งในปี 2564 นี้กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการวิจัยต่อยอดและขยายผลเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อการผลิตพืชปลอดภัยและพืชอินทรีย์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินโครงการในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้ โดยมีเป้าหมายขยายผลเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มเกษตรกรจำนวน 8,425 รายครอบคลุมพื้นที่จำนวน 57 จังหวัด
อนันต์ อักษรศรี
ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยปุ๋ยชีวภาพหลายชนิดที่มีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและเพิ่มธาตุอาหารที่สำคัญให้แก่ดินที่ใช้เพาะปลูกพืช ซึ่งช่วยลดและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ปุ๋ยชีภาพไมคอร์ไรซ่า ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอตเฟต และแหนแดง รวมทั้งยังมีผลงานวิจัยด้านชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชและการผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อนำไปใช้ทดแทนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ แตนเบียนควบคุมแมลงศัตรูพืช แมลงหางหนีบ แมลงช้างปีกใส มวนพิฆาต ไวรัสเอ็นพีวี แบคทีเรียบีที ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม ไตรโคเดอร์มา เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี และแบคทีเรีย Bs-DOA24 แต่ที่ผ่านมาการนำผลงานวิจัยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ยังไม่กว้างขวางเท่าที่ควร เนื่องจากสถานที่ผลิตอยู่ในหน่วยงานส่วนกลางห่างไกลจากเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ที่ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเหล่านี้
ดังนั้นทางอธิบดีกรมวิชาการเกษตรจึงได้มีข้อสั่งการให้มีการขยายผลเทคโนโลยีจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชและกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่บุคลากรของกรมวิชาการเกษตรในส่วนภูมิภาคทั้ง 8 แห่ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งผ่านการอบรมแล้วนำเทคโนโลยีไปขยายผลต่อให้กลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์บางชนิดที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากใช้เองได้ โดยภายหลังจากการขยายผลให้แก่กลุ่มเกษตรกรแล้วเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจติดตามให้คำแนะนำตลอดขั้นตอนการผลิตจนมั่นใจว่ากลุ่มเกษตรกรสามารถผลิตได้เองอย่างมีคุณภาพ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรมีปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชไว้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูกาลผลิต ช่วยลดต้นทุนการผลิต และบางรายยังสามารถต่อยอดผลิตเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้ด้วย ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตพืชที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไม่มีสารพิษ ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น สอดรับนโยบายลด ละ เลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
” โครงการวิจัยขยายผลเทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพเพื่อการผลิตพืชปลอดภัยและอินทรีย์จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2564 – ธันวาคม 2565 คาดว่าหลังสิ้นสุดโครงการจะมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักและผลไม้จำนวน 8,425 ราย ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 57 จังหวัดสามารถผลิตชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชและปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เองได้และผลิตขายเป็นอาชีพเสริม รวมทั้งยังมีศูนย์เครือข่ายในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรจำนวน 57 ศูนย์เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้การผลิตและกระจายชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชไปสู่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่ต้องการผลิตพืชปลอดภัยและพืชอินทรีย์” โฆษกกรมวิชาการเกษตร กล่าว