7 แนวทางส่งเสริมปลูกพืชผักเมืองหนาวคุณภาพบนพื้นที่สูงที่มีความปลอดภัย-เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย….เกษตรทำกิน

 “แม้ว่ามีความจำเป็นต้องส่งเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่มากกว่า 4,000 ชุมชน มีประชากรกว่า  1 ล้านคน ยังต้องคำนึงถึงการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยและคุ้มค่าที่สุด และได้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการดำรงชีวิต”

     หากย้อนดูข้อมูลตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พ.ศ.2548 ให้ความหมายของพื้นที่สูงว่า เป็นพื้นที่ที่เป็นภูเขา หรือพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป ซึ่งในประเทศไทยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 67.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 53 ของพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน แพร่ น่าน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย สุโขทัย กำแพงเพชร กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เป็นพื้นที่ตั้งชุมชนบนที่สูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร ประมาณร้อยละ 88 ของหมู่บ้านมีการคมนาคมยากลำบาก และพื้นที่สูงยังคงมีปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย และการบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง

      ผลการสำรวจประชากรบนพื้นที่สูงพบว่า เป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ 15 เผ่า มีจำนวนประชากรประมาณ 1,070,354 คน (ประมาณ 270,886 ครัวเรือน) ใน 4,205 กลุ่มบ้านใน 20 จังหวัด (สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง, 2561) ส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ในจังหวัดภาคเหนือ 13 จังหวัด จำนวน 851,282 คน หรือร้อยละ 88.22 ของประชากรชาวเขาทั้งประเทศ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีชาวเขามากที่สุด จำนวน 244,291 คน (ร้อยละ 25.31) รองลงมาคือจังหวัดตากและจังหวัดเชียงราย มีจำนวน 130,065 คน และ 130,054 คน ตามลำดับ (ร้อยละ 13.47)

     จากสภาพที่ธุรกันดาร อยู่ห่างไกลจากความเจริญ ซึ่งการสำรวจเพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเกษตรที่สูงในภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2547 พบว่า เกษตรกรทั่วไปมีรายได้เฉลี่ยเพียงปีละ 31,126 บาทต่อครัวเรือน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของเกษตรกรในภาคเหนือกว่าเท่าตัว (69,373 บาทต่อครัวเรือนต่อปี) สาเหตุสำคัญเกิดจากเกษตรกรสร้างผลผลิตได้น้อย ต้นทุนการผลิตสูง ในขณะที่ราคาผลผลิตค่อนข้างต่ำและค่อนข้างผันผวน นอกจากนี้เกษตรกรยังมีช่องทางการตลาดน้อย และไม่มีโอกาสสร้างรายได้นอกภาคการเกษตรเท่าที่ควร

จากปลูกปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย สู่พืชเศรษฐกิจเมืองหนาว

     นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ย้อนอดีตว่า ในช่วงที่ผ่านมา นางสาวเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบัน ด้านการพัฒนา และ นายอิทธิพล โพธิ์ศรี นักวิชาการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชของเกษตรกรบนพื้นที่สูง พบว่า พื้นที่สูงของประเทศไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือนั้นมีสภาพพื้นที่และภูมิอากาศต่างจากพื้นที่ราบเป็นอย่างมาก โดยเป็นเทือกเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล ตั้งแต่ 500 ถึงมากกว่า 1,000 เมตร ทำให้มีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและมีฝนตกชุก นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลและอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ประชาชนที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ จึงมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก

                                                                วิรัตน์ ปราบทุกข์ 

    ในอดีตดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำไร่เลื่อนลอย และปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด และพืชผักท้องถิ่น เพื่อเป็นพืชอาหารเป็นหลัก ส่วนพืชรายได้มีน้อยมาก จึงเกิดปัญหาการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นพืชเสพติดที่สร้างปัญหาให้กับคนทั้งโลก ในการนี้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงก่อตั้ง“โครงการหลวง” เพื่อส่งเสริมให้คนบนพื้นที่สูงปลูกพืชทดแทนฝิ่น

      พืชส่วนใหญ่ที่ปลูกทดแทนฝิ่นเป็นพืชเมืองหนาว หากปลูกพืชผักเขตร้อนจะไม่สามารถแข่งขันทางการตลาดกับพื้นที่ราบได้ แต่ในอดีตพืชผักเขตหนาวเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ยังขาดดองค์ความรู้ว่าจะปลูกพืชผักอะไร วิธีการเพาะปลูกอย่างไร และยังไม่มีตลาด

     โครงการหลวงเป็นหน่วยงานหลักที่ได้วิจัย ส่งเสริม และสร้างตลาด จนทุกวันนี้เป็นที่รู้จัก มีการปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย ต่อมารัฐบาลได้ตั้ง สวพส. ขึ้นเพื่อสนับสนุนงานโครงการหลวง และขยายผลสำเร็จไปพัฒนาพื้นที่สูงต่าง ๆ ปัจจุบันพืชพันธุ์ใหม่ ๆ และวิธีการเพาะปลูกที่ประณีตและปลอดภัย ได้รับการวิจัยและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมแก่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง  

พืชผักชนิดใหม่กับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง

     พื้นที่สูงเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ แม้ว่ามีความจำเป็นต้องส่งเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งอาศัยอยู่มากกว่า 4,000 ชุมชน มีประชากรกว่า  1 ล้านคน ยังต้องคำนึงถึงการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยและคุ้มค่าที่สุด และได้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการดำรงชีวิต แต่ที่ผ่านมาพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้พื้นที่และแรงงานจำนวนมาก ถึงจะมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จึงเป็นสาเหตุของการบุกรุกป่า เกิดการเผาและปัญหาหมอกควัน

     ดังนั้นพืชผักจึงสามารถตอบโจทย์ได้ดี เพราะมีความต้องการของตลาดสูง จึงสามารถสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้กว้างขวาง การเพาะปลูกไม่มีปัญหาการเผา สามารถให้ผลตอบแทนสูงในพื้นที่จำกัดและได้ตลอดปี โดยเฉพาะเมื่อปลูกในระบบที่ประณีต จะยิ่งใช้พื้นที่และน้ำน้อยมาก ดังจะเห็นได้ชัดเจนในพื้นที่ดำเนินงานของ สวพส. หลายแห่ง เช่น น่าน เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ที่ปรับระบบเกษตรเป็นพืชผักและพืชอื่น ๆ ที่เหมาะสมแล้ว สามารถลดการบุกรุกป่า และการเผาได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งทำให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การผลิตพืชผักคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    ความยั่งยืนของการประกอบอาชีพปลูกพืชผักนั้น คุณภาพของผลผลิต และวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจากการที่โครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงจำนวนมาก ปลูกพืชผักเป็นอาชีพมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยในปีหนึ่ง ๆ มีผลิตผลที่ผ่านระบบบริหารจัดการด้านการตลาดรวมมากกว่า 25,552 ตัน มูลค่า ประมาณ  646 ล้านบาท โดยมีหลักการและแนวทางที่เหมาะสมในการปลูกพืชผักบนพื้นที่สูง ดังนี้ 

      1.การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแปลงของเกษตรกร บนพื้นที่สูงพื้นที่ของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ จึงต้องวางแผนการใช้พื้นที่ให้มีการทำการเกษตรที่หลากหลาย ตามความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ ควบคู่ไปกับการทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ

      2.การวางแผนการผลิตและตลาด ความสำเร็จของการทำการเกษตรคือเกษตรกรจะต้องสามารถขายผลผลิตได้และราคาเป็นธรรม การส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของสวพส. จะยึดหลักตลาดนำการผลิต หรือเป็นพืชหรือพันธุ์ใหม่ จะเริ่มส่งเสริมจากจำนวนที่ไม่มาก ควบคู่กับการสร้างตลาด สำหรับพืชผักเป็นพืชที่มีช่วงเวลาปลูกสั้น และต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดให้สัมพันธ์กัน 

      3.การเพาะปลูกภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรือ พืชผักที่ปลูกภายใต้ระบบการเพาะปลูกที่ดี (GAP) หรือเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นจุดแข็งและเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยเฉพาะความตระหนักเรื่องสุขภาพ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน

     4.การเลือกพันธุ์และผลิตต้นกล้าแบบประณีต ความแม่นยำของปริมาณผลิตผลและช่วงเวลาที่ตลาดต้องการ มาจากพื้นฐานสำคัญ คือ การผลิตต้นกล้าให้ได้ตรงตามพันธุ์ ปริมาณ และช่วงเวลา ซึ่งการผลิตต้นกล้าแบบประณีตในโรงเรือนเพาะกล้าโดยใช้วัสดุปลูกที่ดี ช่วยให้ได้ต้นกล้าที่มีคุณภาพ มีจำนวน และระยะเวลาที่แน่นอน รวมทั้งยังช่วยให้ใช้เมล็ดพืชผักพันธุ์ดีซึ่งมีราคาสูงได้อย่างคุ้มค่า 

     5.โรงเรือน คือ หัวใจของคุณภาพและความปลอดภัย การปลูกผักในโรงเรือนช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศที่มีความแปรปรวนโดยเฉพาะบนพื้นที่สูง และยังใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลตอบแทนที่สูงมากกว่าการปลูกนอกโรงเรือนประมาณ 2-5 เท่า สามารถควบคุมการผลิตได้ค่อนข้างแม่นยำและผลผลิตมีคุณภาพดี ช่วยลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตมากถึง 30-50 % ลดการใช้สารป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ร้อยละ 100 ควบคุมการใช้น้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้

    6.การปลูกและดูแลรักษาอย่างประณีต โดยเริ่มจากการปลูกในโรงเรือน ใช้ต้นกล้าที่คุณภาพดีสม่ำเสมอ ปลูกอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ทุกต้นมีพื้นที่และได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน ให้น้ำและปุ๋ยอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอด้วยการให้ปุ๋ยทางระบบการน้ำ และการดูแลและป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างใกล้ชิด สำหรับพืชผักใบส่วนใหญ่จะปลูกลงแปลง (ดิน) โดยตรง สำหรับผักผลบางชนิด เช่น พริกหวาน และมะเขือเทศ นิยมที่จะปลูกในวัสดุปลูก (Substrate culture)

      7.การจัดการหลังเก็บเกี่ยวและการตลาดที่ดี นอกจากการผลิตในแปลงปลูกอย่างประณีตและปลอดภัยแล้ว ต้องมีการเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่ดี ทั้งการรวบรวมและการคัดคุณภาพของผลิตผลให้เป็นไปตามที่กำหนด การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปสู่ตลาด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องทำอย่างประณีตและรวดเร็ว เพื่อให้ผลิตผลถึงตลาดและผู้บริโภคด้วยคุณภาพดีที่สุด

     นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยของผลผลิต โดยตรวจสารเคมีตกค้างทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เป็นระบบแบบนี้จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น โรงคัดบรรจุ ห้องเย็น ห้องวิเคราะห์สารเคมี หรือรถขนส่งผลผลิต ซึ่งเกษตรกรควรรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ เพื่อให้รัฐสามารถให้สนับสนุนได้ง่าย รวมถึงการขอรับรองมาตรฐาน

     “การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความใส่ใจและห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภคในปัจุบันนี้  พืชผักจะเป็นอาหารอันดับแรก ๆ ที่มีความสำคัญ แต่เกษตรกรจะสามารถปลูกพืชผักเป็นอาชีพอย่างมั่นคงได้ ความปลอดภัยของผลิตผล และการเพาะปลูกแบบประณีต เป็นสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการตลาด และความพร้อมสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมและจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของกฏและกติกาการค้าต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายวิรัตน์ กล่าว

     นี่เป็นส่วนหนึ่งในบทบาทของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส.ในการสนับสนุนงานโครงการหลวง ที่ขยายผลสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ สูงพร้อมๆกับการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา ด้วยการส่งเสริมอาชีพปลูกผักเมืองหนาว จนปัจจุบันมีพืชพันธุ์ใหม่ ๆที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี ภายใตเวิธีการเพาะปลูกที่ประณีต ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย