แฟ้มภาพ
กรมชลประทาน ดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูก พร้อมจะจัดสรรน้ำตามรอบเวร เพื่อช่วยลดผลกระทบไม่ให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ล่าสุดประสานกรมฝนหลวงฯ ช่วยเกษตรกรปลูกข้าวนาปี หลังพบว่าตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกน้อยลง ขณะที่มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก ด้วยการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ที่พร้อมจะเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
รายงานจากกรมชลประทาน แจ้งว่า ปัจจุบัน (26พ.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 35,564ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 40,504ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,540ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 16,331ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการเตรียมพร้อมใช้พื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำนอง กรมชลประทานได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ด้วยการใช้พื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำและพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา 13 ทุ่งได้แก่ 1) ทุ่งฝั่งซ้ายชัยนาท-ป่าสัก 2) ทุ่งป่าโมก 3) ทุ่งเจ้าเจ็ด 4) ทุ่งบางกุ้ง 5) ทุ่งผักไห่ 6) ทุ่งโพธิ์พระยา 7) ทุ่งเชียงราก 8 ) ทุ่งท่าวุ้ง 9) ทุ่งบางกุ่ม 10) ทุ่งบางบาล-บ้านแพน 11) ทุ่งพระยาบรรลือ 12) ทุ่งรังสิตใต้ 13) ทุ่งบางระกำ รวมพื้นที่รับน้ำประมาณ 1,410,267 ไร่
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพฝนตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณฝนลดลง จึงได้ประสานไปยังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ทางตอนบนของประเทศเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากในช่วงนี้ทางตอนบนยังคงมีฝนตกน้อยประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหรือข้าวนาปีได้อย่างเต็มศักยภาพ จึงขอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเมื่อมีฝนตกสม่ำเสมอในพื้นที่ สำหรับพื้นที่ใดทำการเพาะปลูกไปแล้วกรมชลประทานจะจัดสรรน้ำให้ตามรอบเวรเพื่อช่วยลดความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร
นอกจานี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก การเร่งกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ที่พร้อมจะเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงทีตามมาตรการรับน้ำฤดูฝนปี 64 ที่ได้วางไว้ ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ กรมชลประทานได้จัดเตรียมความพร้อมทั้งรถแบคโฮรถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และเครื่องผลักดันน้ำไว้ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา หากประชาชนหรือหน่วยงานใดมีต้องการความช่วยเหลือสามารถโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา