ซีพีเอฟ เดินหน้าบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดกระบวนการผลิตควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม ชู “โมเดลโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา” จังหวัดนครนายก นำเปลือกไข่บดจากกระบวนการผลิต แบ่งปันให้เกษตรกรในพื้นที่ทำปุ๋ย ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหาร และเน้นผลผลิตอาหารปลอดภัย สอดรับเป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร ที่จะลดขยะและขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ใน ปี 2030 และเดินตามเป้าหมาย SDGs นักวิชาการเผยเกษตรกรนำไปใช้แล้ว ทำให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น 10-15%
นางวรรณทนีย์ ชำนาญเศรษฐการณ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรตลอดกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ ขณะเดียวกัน บริษัท ฯ เดินตามเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือเครือซีพี ลดขยะและขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบ ให้เป็นศูนย์ใน ปี 2030 (Zero Food Waste to Land Fill) โดยตั้งคณะทำงาน “สร้างคุณค่า ไร้ขยะ… Waste to Value”ขึ้น เพื่อบริหารจัดการด้านลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) , ขยะอาหาร (Food Waste) และบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Packaging) ขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้กรอบแนวปฏิบัติสากลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) : food loss and waste protocol (FLW)
ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว ในส่วนของโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก มีการบริหารจัดการเปลือกไข่จากกระบวนการผลิต ปีละเฉลี่ย 1,000 ตัน โดยดำเนินโครงการ”ปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บด” ตั้งแต่ปี 2557 นำเปลือกไข่บดกระจายให้เกษรกรในพื้นที่นำไปหมักทำปุ๋ย หรือนำไปผสมเตรียมดินเพื่อใช้ปลูกต้นไม้ โรยที่โคนต้นไม้ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินนครนายก อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้คนในชุมชนและเกษตรกรนำปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี สร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน และเป็นการส่งเสริมชุมชนบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัย เป็นการสร้างประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
นอกจากนี้ยังสามารถตัดวงจรการนำเปลือกไข่ไปทิ้งสู่หลุมฝังกลบ (Waste to Landfill)สร้างผลกระทบเชิงบวกสู่ชุมชนและสังคมโดยรอบ และยังเป็นโครงการที่สอดรับตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs) อาทิ ขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ส่งเสริมความยั่งยืนในระบบนิเวศบนบก และการสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2563 โรงงานฯมีปริมาณเปลือกไข่จากกระบวนการผลิตทั้งหมด 1,302 ตัน จัดสรรให้เกษตรกร 65 % และอีก 35 % นำไปใช้ปรับพื้นที่ในโรงงาน ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.64) มีปริมาณเปลือกไข่ 520 ตัน ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 80 รายที่ได้รับประโยชน์ และมีการขยายสู่กลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
“ภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือเครือซีพีและซีพีเอฟยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และมองประโยชน์ของบริษัทเป็นลำดับสุดท้าย ซีพีเอฟปลูกฝังพนักงานมุุ่งมั่นทำความดีและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน ซึ่งโครงการปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บด ก็เป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่พวกเราดีใจที่ได้มีส่วนร่วมทำสิ่งดีๆให้กับชุมชน และเป็นโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร ” นางวรรณทนีย์กล่าว
ด้านนางสาววิลาวัลย์ เรียนเวช นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินนครนายก กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งทางโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา มีโครงการ”ปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บด” ทางสถานีพัฒนาที่ดินนครนายก ได้ประสานกับโรงงาน ฯ เพื่อขอนำเปลือกไข่บดมาให้เกษตรกรใช้ประโยชน์โดยหมักเป็นปุ๋ย หรือบางรายก็นำเปลือกไข่บดไปเทใส่ในดินหรือโคนต้นไม้ ซึ่งเปลือกไข่บดมีคุณสมบัติช่วยให้โครงสร้างของดินดีขึ้น ทำให้ดินโปร่งขึ้น ส่งผลให้รากของพืชชนิดต่างๆสามารถชอนไชหาอาหารได้ดีขึ้น และยังช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารของพืชในดิน ทำให้ผลผลิตเติบโตได้ดี เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 10-15% ที่สำคัญ คือ เปลือกไข่บดช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร ขอบคุณซีพีเอฟที่นำเปลือกไข่ที่เหลือจากการผลิตมาเพิ่มทางเลือกในการปรับปรุงดิน และเกิดประโยชน์กับเกษตรกร
ส่วนนายเกรียงไกร วงศ์ทวีวัฒนา อายุ 57 ปี อาชีพทำการเกษตรและนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์ส่งจำหน่าย เล่าว่า ได้รับคำแนะนำจากคุณครูของรร.คลองโพธิ์ ซึ่งขอรับเปลือกไข่จากโรงงานของซีพีเอฟอยู่แล้ว จึงอยากจะนำเปลือกไข่มาทดลองกับผักและผลไม้ที่สวน โดยขอรับเปลือกไข่บดจากโรงงานมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันที่เข้าไปรับเปลือกไข่บดมาครั้งละ 1 ตัน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง นำมาผสมกับแกลบดำ ปุ๋ยคอก หญ้า ฟาง ใส่น้ำหมักและทิ้งไว้ 1-2สัปดาห์ นำไปใส่โคนต้นไม้ สังเกตได้ว่าเปลือกไข่บดมีส่วนช่วยปรับปรุงสภาพดินให้มีความโปร่งขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตเติบโตได้ดี ต้องขอขอบคุณในความเอื้อเฟื้อของซีพีเอฟที่มีต่อเกษตรกรในพื้นที่ เป็นเรื่องที่ดีที่บริษัทฯมีโครงการอย่างนี้ และอยากจะให้ช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
ขณะที่นางวารินทร์ สุขชม เพิ่งเกษียณอายุราชการจากอาชีพครู กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณซีพีเอฟ ที่นำเปลือกไข่บดของโรงงานฯมาให้คนในพื้นที่จังหวัดนครนายกใช้ประโยชน์ เช่นเดียวกับที่บ้านซึ่งอยู่ใกล้โรงงานแปรรูปไข่บ้านนาอยู่แล้ว จึงขอเปลือกไข่บดจากโรงงานมาใส่ต้นไม้ ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ยังทำงานอยู่ จะนำรถกระบะไปบรรทุกเปลือกไข่จากโรงงานทุกวันเสาร์ ครั้งละประมาณ 1 ตัน แต่ช่วงปิดเทอมจะเข้าไปรับเปลือกไข่มาทุกวัน จนถึงปัจจุบันก็ยังไปรับเปลือกไข่จากโรงงานฯอยู่
โดยนำมามาโรยที่โคนต้นไม้ เปลือกไข่บด ช่วยให้ต้นไม้ ไม้ผลต่างๆเติบโตได้ดี ผลผลิตลูกใหญ่ขึ้น เช่น มะพร้าว กะท้อน กล้วย มะนาว มะละกอ ฯ ทำให้ได้บริโภคผัก ผลไม้ ที่ปลอดภัย เพื่อนบ้านมักจะมาถามว่าทำไมต้นไม้ที่บ้านเติบโตดี ก็จะแนะนำต่อว่าทางโรงงานของซีพีเอฟมีเปลือกไข่บดที่นำมาใช้เป็นปุ๋ยได้ ตอนนี้ในพื้นที่ที่เหลือเริ่มนำต้นไม้มาปลูกเพิ่มขึ้น และใช้เปลือกไข่จากโรงงานของซีพีเอฟโรยโคนต้นไม้ ช่วยให้ต้นไม้เติบโตได้ดี และยังมีส่วนช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย