สศท.6 เปิดผล Focus Group “บางพลวงโมเดล” ปราจีนบุรี ต้นแบบการจัดการพื้นที่ภัยพิบัติ

  •  
  •  
  •  
  •  

สศท.6 เผยผลการประชุม Focus Group ถอดบทเรียน “แนวทางบริหารจัดการสินค้าเกษตรสำคัญในพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซาก กรณีศึกษาโครงการบางพลวงโมเดล” พบพื้นที่ 5 ตำบลนำร่อง ใน 2 อำเภอของ จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่เหมาะสมสูง (S1) แก่การปลูกข้าวถึง 37,440 ไร่ เหมาะสมปานกลาง (S2) จำนวน 12,419 ไร่ และเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) เพียง 332 ไร่เท่านั้น

​       นายชัฐพล สายะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการประชุม Focus Group ถอดบทเรียน “แนวทางบริหารจัดการสินค้าเกษตรสำคัญในพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซาก กรณีศึกษาโครงการบางพลวงโมเดล” ภายใต้โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) สำหรับโครงการพื้นที่บางพลวงเป็นพื้นที่ชลประทานขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 5 แสนไร่ เป็นพื้นที่ชลประทานใจกลางหลักของภาคตะวันออก และมีความท้าท้ายในการเกิดภัยพิบัติซ้ำซาก ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และภัยน้ำเค็มรุกล้ำ ซึ่งจากการถอดบทเรียนจากข้อมูลตามแผนที่ความเหมาะสมของสินค้าเกษตร (Agri-Map) พบว่า พื้นที่ 5 ตำบลนำร่อง (ต.บางกุ้ง ต.หาดยาง ต.ดงกระทงยาม ของ อ.ศรีมหาโพธิ์ ต.คู้ลำพัน และ ต.ไผ่ชะเลือด ใน อ.ศรีมโหสถ) ของบางพลวงโมเดลส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เหมาะสมสูง (S1) แก่การปลูกข้าวจำนวน 37,440 ไร่ เหมาะสมปานกลาง (S2) จำนวน 12,419 ไร่ และเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) เพียง 332 ไร่

ชัฐพล สายะพันธ์

อย่างไรก็ตาม ​หากพิจารณาจากข้อมูลของเกษตรตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติ มีดังนี้ 1) มิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรกรส่วนใหญ่อาศัยใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทาน ซึ่งแหล่งน้ำยังไม่เพียงพอ, 2) มิติด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรส่วนใหญ่สังกัดกลุ่มธนาคารเพื่อการเกษตรหรือ ธ.ก.ส. 86% เป็นพื้นที่เช่า 86% ไม่คิดเปลี่ยนไปทำเกษตรด้านอื่น ๆ ที่มีรายได้มากกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียวเนื่องจากเป็นพื้นที่เช่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ และไม่มีความรู้ในการประกอบอาชีพอื่น ๆ แต่หากมีน้ำส่งมาตามคลองได้ต่อเนื่องจึงจะคิดปรับเปลี่ยนปลูกพืชทางเลือกอื่นผสมผสานบ้างต่อไป และ 3) มิติด้านสังคม ส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร มีอาชีพเสริม 33% เช่น รับจ้างทั่วไป ค้าขาย และลูกจ้างภาครัฐ

    นายชัฐพล กล่าวอีกว่า การนำเสนอในครั้งนี้ ผู้อำนวยการส่วนแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจการเกษตร (นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย) สศท.6 ได้นำเสนอร่างแนวทางการบริหารจัดการฯ ให้หน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) ภายนอก กษ. และเกษตรกรควรร่วมบูรณาการแบบมีพื้นที่เป้าหมายเดียวกันในพื้นที่โครงการบางพลวง เพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละมิติ รวมทั้งประเด็นสำคัญการส่งเสริมการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ให้เข้มแข็งเพื่อให้ตกผลึกความคิดร่วมกันและสร้างการรับรู้รับทราบข้อมูลให้ทั่วถึง

    นอกจากนี้ในที่ประชุมได้เห็นชอบตามข้อค้นพบจากการถอดบทเรียนและร่างแนวทางการบริหารจัดการฯ นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้มีพื้นที่ปลูกสินค้าทางเลือกต้นแบบ แบบ Learning by Doing ควรหาพื้นที่เป้าหมาย และควรมีเกษตรกรต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรได้ศึกษาดูต้นแบบความสำเร็จ ตั้งแต่เรื่องแหล่งเงินทุน หาพันธุ์ดี วิธีการเพาะปลูกพืชทางเลือก การดูแลรักษาไปจนถึงด้านการตลาด

     ทั้งน สศท.6 จะนำผลการประชุม Focus Group ไปปรับปรุงรายงานการถอดบทเรียนฯ ให้สมบูรณ์มากขึ้นและนำไปเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนแนวทางบริหารจัดการร่วมบูรณาการทำงานของหน่วยงานทั้งในและนอกสังกัด กษ. เน้นการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่/การปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตให้เป็นสินค้าที่ตลาดต้องการ ตามหลักการตลาดนำการผลิตแบบครบวงจร สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจข้อมูลบางพลวงโมเดล สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 โทร. 0 3835 1398 หรืออีเมลzone6@oae.go.th