ในช่วงที่อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเฝ้าระวังการเข้าทำลายของ “เพลี้ยหอยเกล็ดขาว” ที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง อันดับแรกแนะให้เกษตรเลือกใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาดปราศจากเพลี้ยหอยเกล็ดขาว
เพลี้ยหอยเกล็ดขาว เริ่มแรกจะพบตัวเต็มวัยเพศเมียมีแผ่นคล้ายเปลือกหอยแมลงภู่ สีขาวปกคลุมลำตัว รูปร่างยาวรี เมื่อเปิดแผ่นปกคลุมลำตัวขึ้น จะพบตัวเพลี้ยหอยเกล็ดขาวที่มีขนาดเล็ก ลำตัวสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองเข้ม ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณลำต้น ก้านใบ และหลังใบ ทำให้ใบเหลืองและร่วง หากมีเพลี้ยหอยเกล็ดขาวปกคลุมทั้งลำต้น จะทำให้ต้นแห้งตายได้
แนวทางในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยหอยเกล็ดขาว ก่อนปลูก ให้เกษตรกรเลือกใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาดปราศจากเพลี้ยหอยเกล็ดขาว กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มีเพลี้ยหอยเกล็ดขาว ให้เกษตรกรแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาคลอพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังนาน 10 นาที จากนั้น ให้นำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่แช่เสร็จแล้วมาผึ่งให้แห้งก่อนนำมาปลูกในแปลงต่อไป
นอกจากนี้ หลังปลูก ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจการระบาดของเพลี้ยหอยเกล็ดขาวในแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบการระบาด ให้เกษตรกรถอนและเก็บต้นมันสำปะหลังที่พบเพลี้ยหอยเกล็ดขาว นำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก จากนั้น ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัม ผสมกับไวต์ออยล์ 67% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอิมิดาคลอพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 4 กรัม ผสมกับไวต์ออยล์ 67% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งให้ผสมในน้ำปริมาณน้อย และ คนให้ละลายเข้ากันดีก่อนเติมน้ำจนได้ปริมาตรที่ต้องการ โดยพ่นเฉพาะจุดที่พบเพลี้ยหอยเกล็ดขาวเข้าทำลาย