อัด 150 ล้านจ่ายเงินประกันรายได้ให้ชาวสวนยางระยะ 2 งวดสุดท้าย ผู้ว่าฯกยท.ยันระบายสต๊อกไม่กระทบราคา

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯเปิดตัวเลขจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางงวดสุดท้าย ชดเชยเฉพาะยางก้อนถ้วยชนิดเดียว 150 ล้านบาท พร้อมย้ำการบริหารจัดการสต๊อกยางโครงการรัฐเป็นไปอย่างเหมาะสมไม่กระทบต่อกลไกตลาด 

       นายณกรณ์   ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เปิดเผยว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะ 2 เข้าสู่การจ่ายเงินงวดสุดท้ายคืองวดที่ 6 ประจำเดือน มีนาคม 2564 ซึ่งได้กำหนดชดเชยส่วนต่างราคายางตามกำหนดราคากลางอ้างอิง ดังนี้ ราคายางแผ่นดิบเฉลี่ย 61.08 บาท/กก.รัฐบาลประกันอยู่ที่ 60 บาท/กก.ราคาน้ำยางสด 58.91 บาท/กก. รัฐบาลประกันอยู่ที่ 57 บาท/กก.และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) 22.63 บาท/กก. รัฐบาลประกันอยู่ที่ 23 บาท/กก.

       โดยในงวดนี้ยางก้อนถ้วยเป็นชนิดยางเดียวที่มีการจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ส่วนต่าง 0.37 บาท/กก.คิดเป็นเงินประกันส่วนต่างประกันรายได้ของงวดนี้คือ 149.79 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายเงินงวดที่ 6 ได้ในวันที่ 30 เมษายน 2564 เป็นต้นไปสำหรับผลการดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมาจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคายางพาราไปแล้วจำนวน 7,290.18ล้านบาท จ่ายให้เจ้าของสวนยางและคนกรีดยาง จำนวน 1,377,935ราย

     นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ช่วงกุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน ถือว่าราคายางยังปรับตัวในทิศทางที่ดีโดยมีปัจจัยจากปริมาณยางออกสู่ตลาดลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงปิดกรีด เกิดพายุฤดูร้อนทำให้ฝนตกชุกทั่วประเทศประกอบกับผู้ประกอบการมีความต้องการยางเพื่อส่งมอบและขยายกำลังการผลิตการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจีน เมื่อเทียบกับปี 2563 รวมถึงการไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลในการลงทุน จึงส่งผลให้ทิศทางราคายางของไทยปรับตัวสูงขึ้นดังนั้น การชดเชยส่วนต่างระหว่างราคายางในตลาดกับราคาประกันในงวดสุดท้ายจึงมีเพียงยางก้อนถ้วยชนิดเดียวที่ได้รับการชดเชย

       ส่วนความคืบหน้าการบริหารจัดการสต๊อกยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางนั้น  กยท. ดำเนินการระบายสต๊อกยางในโครงการดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โดยคำนึงถึงระยะเวลา และราคาจำหน่ายที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและราคายาง

       ทั้งนี้ได้ตั้งคณะกรรมการบริหารสต๊อกยางโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อดำเนินการตรวจสอบปริมาณยาง กำหนดหลักเกณฑ์การปรับลดคุณภาพยาง และการตรวจสอบคุณภาพยางเป็นประจำ รวมถึงได้ว่าจ้างบริษัทผู้ประเมินอิสระทำการตรวจสอบคุณภาพยาง พร้อมประเมินมูลค่าสต๊อกยางเพื่อให้การระบายสต๊อกยางในครั้งนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมและโปร่งใสที่สุด โดยบริษัทที่ประมูลได้ คือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่ง กยท. กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ประมูลได้ต้องซื้อยางเพิ่มอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูล เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร เป็นการรักษาระดับความต้องการยางในตลาด ทั้งนี้ จะเริ่มส่งมอบยางในช่วงปลายเดือน เม.ย. ไปจนถึง พ.ค. 64 นี้ ก่อนที่ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาด