กรมพัฒนาที่ดิน ชูผลิตภัณฑ์ใหม่ พด.13 นวัตกรรมไมคอร์ไรซาสำหรับข้าวโพด ลดปุ๋ยเคมีได้ครึ่ง เพิ่มผลผลิต 20%

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมพัฒนาที่ดิน ชูผลิตภัณฑ์ใหม่ “พด.13” นวัตกรรมไมคอร์ไรซาสำหรับข้าวโพด เผยผลจากการใช้แล้ว ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ ร้อยละ 20 – 50 ข้าวโพดสามารถดูดซับฟอสฟอรัสได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 – 30 ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น 10 – 20 %

      นางสาวเบญจพร  ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการวิจัยคิดค้นนวัตกรรมการใช้จุลินทรีย์ช่วยเพิ่มแร่ธาตุอาหารให้กับพืชในรูปแบบปุ๋ยชีวภาพ ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้เกษตรกร และผู้บริโภคปลอดภัยจากสารพิษ ทำให้มีสุขภาพดี รักษาสมดุลของระบบนิเวศ สนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยและช่วยสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนวาระเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ  โดยการคัดเลือกเชื้อราอาบัสคูลาร์ไมคอร์ไรซาที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช

      ในปี 2563 จึงนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ชนิดใหม่ ใช้ชื่อว่า “พด.13       ไมคอร์ไรซาสำหรับข้าวโพด” ซึ่งประกอบด้วย ราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา 2 สายพันธุ์ (Glomus sp. และ Acaulospora sp. ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวโพด)  และแบคทีเรีย 2 สายพันธุ์ (แบคทีเรียตรึงไนโตรเจนแบบอิสระ Azotobacter chroococcum และแบคทีเรีย ผลิตฮอร์โมนพืช Bacillus sp. ช่วยให้ไมคอร์ไรซาเข้าอยู่อาศัยในรากได้เพิ่มขึ้น)

         สำหรับจุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.13 ไมคอร์ไรซาสำหรับข้าวโพด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่ม การดูดใช้ธาตุอาหารพืชโดยเฉพาะฟอสฟอรัส  ส่งเสริมการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตข้าวโพด ลดการใช้ปุ๋ยเคมีโดยราไมคอร์ไรซา เป็นราที่อาศัยอยู่ร่วมกับรากพืชโดยมีความสัมพันธ์แบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ราจะสร้างเส้นใยเจริญรอบราก แล้วเข้าไประหว่างเซลล์รากพืช

       โดยมีการสร้างโครงสร้างพิเศษ ช่วยดูดซับธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ส่งต่อให้กับพืช สร้างความทนทานให้กับพืชและเพิ่มผลผลิตพืชมีประสิทธิภาพดีในสภาพพื้นที่ดินมีปัญหา เช่น ดินกรด และดินเค็ม ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง พิษของโลหะหนัก รวมทั้งลดการเข้าทำลาย ของเชื้อโรคในดิน นอกจากนี้ยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินโดยเส้นใยของเชื้อราจะสร้างสารกลูมาลิน  ช่วยทำให้เกิดการจับตัวกันของอนุภาคดินเกิดเป็นก้อนดิน (aggregate) ส่งผลต่อการพัฒนาสมบัติดินทั้งทางกายภาพและเคมีของดิน  และมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของข้าวโพด

      การนำผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด.13 ไมคอร์ไรซา ไปใช้ประโยชน์สำหรับปลูกข้าวโพด  ต้องมีการขยายเชื้อโดยนำไปขยายเชื้อร่วมกับข้าวโพดหรือข้าวฟ่างในกระถางหรือถุงปลูกก่อน  โดยใช้ทราย 8 กิโลกรัมและปุ๋ยหมัก 2 กิโลกรัมผสมกันเป็นวัสดุปลูก  นำวัสดุปลูกนี้ใส่กระถางหรือถุงพลาสติก 

        จากนั้นโรยผง พด.13 ประมาณ 1 ซอง รองก้นหลุม  แล้วหยอดเมล็ดข้าวโพดลงในกระถางหรือถุงพลาสติก (ปลูกข้าวโพดร่วมกับเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเป็นการขยายเชื้อจุลินทรีย์) เป็นเวลา 60 วัน  เชื้อที่ขยายแล้วในวัสดุปลูก 1 กระถาง หรือ 1 ถุงพลาสติก  สามารถนำไปใช้หยอดร่วมกับเมล็ดข้าวโพดในการปลูกข้าวโพดได้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่

         ผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์ พด.13 ไมคอร์ไรซาทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ ร้อยละ 20 – 50 ข้าวโพดสามารถดูดซับฟอสฟอรัสได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 – 30 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 – 20

        ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน   กรมพัฒนาที่ดิน โทร 0 – 2579 – 0679 และ Call Center 1760 ต่อ 1379